กระดานข่าว

SCGP เผยเคล็ดลับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ “ปั้นแบรนด์ให้วิ่ง แพคเกจจิ้งต้องจึ้ง”


09 กันยายน 2567

งานสัมมนา “ปั้นแบรนด์ให้วิ่ง แพคเกจจิ้งต้องจึ้ง” จัดโดย บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิยุทธสาร ณ นคร ได้สะท้อนถึงความสำคัญของไอเดียสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างแบรนด์สินค้า

7FDA6E60-6F42-4F30-87AA-A342AC1421B0_11zon (1).jpg

ผ่านคำบอกเล่าให้วิทยากรที่ร่วมสัมมนา เผยให้เห็นถึงเทรนด์และเคล็ดลับการสร้างแบรนด์ผ่านการออกแบบ โดยบรรจุภัณฑ์ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนแบรนด์เพื่อสร้างการจดจำให้กับลูกค้า การจะทำเช่นนั้นได้จะต้องรู้ความต้องการเชิงลึกของลูกค้า (Customer Insight) บรรจุภัณฑ์ยังต้องเป็นไปได้ทางธุรกิจ ขณะที่เทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์มาแรงในขณะนี้ คือบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Packaging) บรรจุภัณฑ์ต้องเป็น “รักแรกพบ” และ “ไม่รู้ลืม”

ปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  Co-Founder & Head of Strategies HEAD100 Co., Ltd. ในฐานะอนุกรรมการกลุ่มบริหารการตลาด สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า แบรนด์คือทุกจุดสัมผัส (Touch Point) ที่ผู้บริโภคมองเห็น เป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดย “บรรจุภัณฑ์” ถือเป็นจุดสัมผัสสำคัญ หากออกแบบบรรจุภัณฑ์ดี จะลดเงินลงทุนสร้างแบรนด์ ลดค่าโฆษณาลงได้ ทั้งนี้เคล็ดลับการปั้นแบรนด์ให้วิ่ง บรรจุภัณฑ์จะต้องเป็น “รักแรกพบ” สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เช่น การเปิดใช้งานที่สะดวก ประหยัดการใช้วัสดุ การมีบาร์โค้ดไว้ที่บรรจุภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ เป็นต้น 

“เหมือนเราเจอใครสักคน สิ่งแรกที่เราเห็นคือ เสื้อ ผ้า หน้า ผม ต้องประทับใจจากภายนอกก่อน จึงจะเข้าไปสื่อสาร เห็นตัวตนภายใน ซึ่งบรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่นั้น” 

นอกจากนี้อีกเคล็ดลับสำคัญ คือ “ไม่รู้ลืม” บรรจุภัณฑ์ไม่เพียงการออกแบบสวยงาม แต่ต้องบอกเล่าเรื่องราวที่โดนใจลูกค้า ผ่านการสร้างเอกลักษณ์-จุดขาย การสร้างประโยชน์-แก้ปัญหา (Pain Point) ให้กับลูกค้า และสุดท้ายคือการสร้างรายได้ให้กับแบรนด์

“บางแบรนด์ไม่ต้องเห็นโลโก้ เห็นแค่หน้าตาบรรจุภัณฑ์ ก็รู้เลยว่าคือแบรนด์นี้ จากเอกลักษณ์ของรูปทรงบรรจุภัณฑ์ ความโดดเด่นของโทนสีที่ใช้ แพคเกจจิ้งจึงเป็นเหมือนโรงละคร เป็นพื้นที่ของการเล่าเรื่องแบรนด์ เพื่อปิดจ็อบการตลาดให้ได้”