จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TIDLOR แปลงร่างเป็น “ติดล้อ โฮลดิ้งส์" มั่นใจสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้ดีขึ้น


12 กันยายน 2567
บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี เดินหน้าสร้างการเติบโตให้ธุรกิจและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง 

รายงานพิเศษ TIDLOR copy.jpg

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี คือ บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตัวเอง เป็นวิธีการในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อีกแนวทางหนึ่ง  สะท้อนจากมุมมองของ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR)

“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล”  ที่ระบุว่า บริษัทเดินหน้าในการปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding Company  โดยอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่า "ติดล้อ โฮลดิ้งส์" จะตั้งโต๊ะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender Offer) จากผู้ถือหุ้นเดิม โดยวิธีการแลกหุ้นที่อัตรา 1:1 และคาดว่าจะกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/67 

หลังจากการเปลี่ยนเป็น "ติดล้อ โฮลดิ้งส์" แล้ว บริษัทยังคงมั่นใจว่า ผลการดำเนินงานยังคงทำได้ดีอย่างต่อเนื่องในปี 68 และได้รับประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีของบริษัทลดลง 

ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานหลังจากปรับเป็น Holding Company และยังคงมั่นใจว่าสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลตอบแทนจากเงินปันผล และจะให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ จากการที่สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ่ายปันผลเป็นเงินสดได้มากขึ้น ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม

การเป็นโฮลดิ้งยังเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรผ่านการควบรวมกิจการ หรือการร่วมลงทุน ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะการมองหาโอกาสขยายธุรกิจในอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของบริษัท แต่ยังอยู่ระหว่างการมองหาโอกาสการลงทุนที่ดีเข้ามา หรือหากมีความร่วมมือกับกลุ่ม MUFG หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกและทั่วภูมิภาค ก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมในการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ 

นอกจากนี้อีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโต คือ ธุรกิจนายหน้าขายประกัน ภายใต้แบรนด์ประกันติดโล่ (ชื่อเดิม ประกันติดล้อ) , อารีเกเตอร์ (Areegator) และ  "เฮ้กู๊ดดี้" (heygoody) ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการขยายการเติบโต และเป็นการสร้างความสมดุลให้กับธุรกิจของบริษัท จากการที่ธุรกิจหลักเดิมเน้นการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่มีความเสี่ยงและมีความผันผวน การมีธุรกิจนายหน้าขายประกัน เป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง และตลาดประกันถือว่ามีมูลค่าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะประกันวินาศภัยที่มูลค่าสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งยังมีโอกาสในการขยายธุรกิจการขายประกัน
         
บริษัทตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าขายประกันในอีก 3 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% ของรายได้รวม และมั่นใจว่าเบี้ยประกันรับรวมในปี 67 จะแตะที่ 1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 20% จากปีก่อนที่มีเบี้ยประกันรับรวม 8.7 พันล้านบาท 

สำหรับธุรกิจหลักของบริษัท คือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความผันผวน และมีหนี้สินครัวเรือนที่สูง กำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลัก โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ยังเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี 67 จะอยู่ที่ 2% จากปัจจุบันที่ 1.8% แต่ยังต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ 3% และเป็นระดับที่ยังไม่น่ากังวล

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงต้องเดินหน้าในการควบคุม NPL เพื่อทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อ Credit cost ที่สูง ซึ่งมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท จึงมีผลต่อการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น และทำให้การปล่อยสินเชื่อของบริษัทชะลอตัวลงไปบ้าง จากการที่เน้นมาควบคุมและบริหารจัดการคุณภาพของพอร์ตลูกหนี้