จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : DPAINT มั่นใจผลงานดีขึ้น ปรับกลยุทธ์การขาย-รับผลดีฟื้นฟูหลังน้ำท่วม


16 กันยายน 2567
บมจ. สีเดลต้า (DPAINT)  ผลงานปีนี้ปรับตัวดีขึ้น หลังปรับกลยุทธ์กระตุ้นยอดขาย  ลดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันยังได้อานิสงส์การฟื้นฟูที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วม 

รายงานพิเศษ DPAINT มั่นใจผลงานดีขึ้น.jpg

นายอรรถพล  ตั้งคารวคุณ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน บมจ. สีเดลต้า (DPAINT) เชื่อ ผลประกอบการช่วงที่เหลือของปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา 

โดยในด้านของยอดขาย บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรองรับกับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน  โดยในด้านกลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย บริษัทจะเน้นการทำ CRM เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าและใหม่ 

ในด้านของกลยุทธ์การลดค่าใช้จ่าย บริษัทจะเน้นการเพิ่มประสิทธิการใช้งานสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรบุคคล เช่น พนักงาน PC หรือ พนักงานขาย ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการด้านบุคลากร  รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เครื่องจักรการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงและได้ % GP ที่ดีขึ้น ซึ่งจากกลยุทธ์ข้างต้นฝ่ายบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นได้

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ก็ยังน่าห่วง  หลายแห่งได้เกิดอุทกภัยรุนแรงในรอบ 10-20  ปี  โดยวิจัยกรุงศรี วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มอุทกภัยในประเทศไทยปี 2567 ชี้ความเสี่ยงเพิ่มสูงในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี โดยเฉพาะเดือนกันยายนและตุลาคม เนื่องจากการเข้าสู่ภาวะลานีญาและอิทธิพลของมรสุม  แต่คาดว่าอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จะไม่รุนแรงเท่ามหาอุทกภัยปี 2554

โดยวิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ดัชนีสมุทรศาสตร์  ทั้งดัชนี ONI ที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะลานีญาอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงต้นปี และดัชนี PDO และ IOD ที่แสดงแนวโน้มพายุในภูมิภาคที่มีผลอย่างมากต่อปริมาณฝนในไทย ตลอดจนอิทธิพลจากพายุประจำปี ทั้งพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงและเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านแต่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประเทศไทย ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ปริมาณฝนในไทยจะมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 15-16% และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะลานีญาอย่างเต็มตัวในเดือนตุลาคม 2567 ทำให้ในเดือนกันยายน-ตุลาคมเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงอุทกภัยในทุกภูมิภาค 

โดยพื้นที่เสี่ยงสูงได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนทรัพย์สิน อาทิ ครัวเรือน โรงงาน เครื่องจักร สินค้าเกษตร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคได้

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้จำลองสถานการณ์ไว้ 3 กรณี โดยในกรณีฐาน คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 4.65 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.27% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ดีขึ้น และการพัฒนาระบบป้องกันของภาคเอกชนโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม จะช่วยลดทอนผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า แม้ความเสี่ยงอุทกภัยในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ามหาอุทกภัยปี 2554 เนื่องจากในปี 2567 นี้มีปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่า มีพื้นที่รองรับน้ำมากกว่า รวมถึงความพร้อมด้านการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐและการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนที่พัฒนาขึ้น

"อย่างไรก็ตาม เรายังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมที่มีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีกหลายประการ โดยเฉพาะจำนวนพายุที่เคลื่อนที่เข้าสู่ไทยที่จะส่งผลต่อปริมาณฝนและพื้นที่ที่เกิดฝนตกหนัก อันเนื่องมาจากภาวะโลกรวนในปัจจุบันที่ทำให้สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว หรือ Extreme weather เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น" ดร.พิมพ์นารา กล่าว

ซึ่งต้องยอมรับว่าหลังสถานการณ์น้ำท่วมผ่านพ้นไป การฟื้นฟูบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  สถานที่ราชการและเอกชนที่ได้รับผลกระทบเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้นสินค้าที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูยอมรับได้ผลดี  รวมทั้ง สีทาบ้าน ของบมจ. สีเดลต้า (DPAINT) ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีทาอาคารชั้นนำของประเทศ