ร้าน Texas Chicken ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ OR ที่ล่าสุดประกาศปิดตัวทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.เป็นต้นไป หลังดำเนินกิจการในไทยได้เพียง 9 ปี
โดยประเด็นนี้ นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มองจิตวิทยาบวกต่อหุ้นที่มีธุรกิจจำหน่ายสินค้าคล้ายกัน CENTEL (KFC 34% ของรายได้) และ MINT (ไก่ Bon Chon) ผสาน หุ้นสะท้อนภาพท่องเที่ยวที่มักอ่อนตัวระยะท้ายๆ ก่อนเข้าสู่ Hi season ปลายปีแล้ว โดยรวมบวกต่อ CENTEL MINT และหุ้นน่าจะมีโอกาสค่อยๆเริ่มฟื้นตัวได้
ทีมข่าว Share2Trade เข้าไปสำรวจคำอธิบายงบการเงิน OR พบว่า จำนวนสาขาของ ร้าน Texas Chicken ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลครึ่งปีแรก 2567 พบว่า มีจำนวนสาขาอยู่ที่ 97 สาขา ลดลง 10 สาขา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยข้อมูลสิ้นปี 2566 อยู่ที่จำนวน 100 สาขา ส่วนสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 107 สาขา ขณะที่ปี 2564 มีจำนวน 96 สาขา ด้านปี 2563 มีจำนวน 78 สาขา และปี 2562 มีจำนวน 45 สาขา ดังนั้นจากตัวเลขจำนวนสาขาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มีการลดลงนับตั้งแต่ปี 2566
สำหรับ OR เป็นบริษัทแกนนำ (Flagship) ในการดำเนินธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม ปตท. โดย ปตท. ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ ด้วยการโอนธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องของหน่วยธุรกิจน้ำมันปตท. ให้กับ OR เมื่อวันที่่ 1 กรกฎาคม 2561 และต่อมา OR ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่่ 11 กุมภาพันธ์ 2564
โดยในปี 2558 OR เข้าทำสัญญาได้รับสิทธิในการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร (International Multiple-unit Franchise and Development Agreement) เพื่อการดำเนินธุรกิจร้านค้าภายใต้แบรนด์ Texas Chicken แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยกับบริษัท Cajun Global LLC โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว OR มีสิทธิขอรับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ เพื่อให้ OR มีสิทธิในการให้สิทธิแฟรนไชส์ต่อแก่บุคคลภายนอก (Sub-franchise) ก่อนที่จะประกาศปิดตัวทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.เป็นต้นไป
สำหรับ Texas Chicken คือหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ของ OR ที่จำแนกออกมาในส่วนของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะมีทั้ง Café Amazon, Pearly Tea รวมทั้งแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบริษัทที่ OR เข้าไปลงทุนเพื่อต่อยอดเพิ่มความหลากหลาย ได้แก่ Pacamara Coffee Roasters โอ้กะจู๋ โคเอ็น พรีเมียม บุฟเฟ่ต์ Kamu Tea Dusit Foods Drink Enterprise สำหรับเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม (RTD) เป็นต้น
โดยหากอ้างอิงในรายงานประจำปี 2566 ของ OR พบว่า กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ในปี 2566 มีรายได้ขายและบริการ 22,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 21,082 ล้านบาท ขณะที่ EBITDA ปี 2566 อยู่ที่ 5,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2565 อยู่ที่ 5,238 ล้านบาท ขณะที่ กำไรจากการดำเนินงานปี 2566 อยู่ที่ 3,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% จากปี 2565 อยู่ที่ 3,321 ล้านบาท
หากเข้าสำรวจ รายได้ขายและบริการ ในธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ในปี 2566 อยู่ที่ 15,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากปี 2565 ที่อยู่ระดับ 13,993 ล้านบาท
ขณะที่ครึ่งปีแรก 2567 ธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม มีรายได้ขายและบริการ 7,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ที่เพิ่มขึ้นตามขยายสาขา ที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ในไตรมาส 2/67 กลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม 4,496 สาขา แบ่งเป็นร้าน Cafe Amazon ในประเทศไทย 4,250 สาขา จำแนกเป็นสาขาในสถานีบริการ 2,261 สาขา และนอกสถานีบริการ 1,989 สาขา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53.2% และ 46.8% ตามลำดับ รวมทั้งมี Cafe Amazon ในต่างประเทศ จำนวน 27 สาขา
ส่วนร้านเท็กซัส ชิคเก้น มีเครือข่าย 97 สาขา ด้านร้านอาหาร และเครื่องดื่มอื่นมีเครือข่าย 122 สาขา ได้แก่ เพิร์ลลี่ที และ Pacamara Coffee Roasters สำหรับธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ มีร้านสะดวกซื้อ ภายใต้แบรนด์ 7-Eleven และภายใต้แบรนด์ จิฟฟี่ ในประเทศไทย 2,253 สาขา และร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงามภายใต้แบรนด์ found & found 1 สาขา
โดยร้าน Cafe Amazon ภายใต้ธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มในไตรมาส 2/67 มีปริมาณจำหน่ายรวม 102 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้น 3 ล้านแก้ว เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 จากการขยายเครือข่ายสาขาอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมส่งเสริมการขาย