Wealth Sharing

ไลเซนส์ Virtual Bank 3 กลุ่มพันธมิตรแบงก์โอกาสเข้ารอบสูง หวั่นระยะสั้นค่าใช้จ่ายเพิ่ม-แบกผลขาดทุน


20 กันยายน 2567

วานนี้(วันที่ 19 ก.ย.67) เป็นวันสุดท้ายสำหรับการรับสมัครผู้สนใจรับการพิจารณาเพื่อให้บริการธุรกิจ Virtual Bankในไทยรอบแรกจำนวนไม่เกิน 3 ใบอนุญาต โดย 4 กลุ่มที่เข้าขอใบอนุญาต ประกอบไปด้วยกลุ่ม KTB-ADVANC-OR, กลุ่ม Lightnet Group-WeLab, กลุ่ม SEA-BBL-VGI-Thailand Post และกลุ่ม SCB-WeBank-KakaoBank 

ไลเซนส์ Virtual Bank_WS (เว็บ) copy_0.jpg

สำหรับลำดับถัดไปจะเข้าสู่ช่วงที่ ธปท. และกระทรวงการคลังพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติและได้รับใบอนุญาตในวันที่19 มิ.ย. 2568 แต่ด้วยใบอนุญาตเพียง 3 ใบ กับเข้าชิงถึง 4 กลุ่ม ใครจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ทางเราจึงจะพาไปดูมุมมองจากนกวิเคราะห์กัน

โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่า คาดผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank  ในรอบแรกคือ กลุ่ม KTB-ADVANC-OR , กลุ่ม SEA-BBL-VGI-Thailand Post และ SCB-WeBank-KakaoBank เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีองค์ประกอบครบถ้วน 

ไม่ว่าจะเป็นด้านความพร้อมทั้งด้านเงินทุน ด้านเทคโนโลยี และฐานลูกค้า/ข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ ที่จะช่วยให้การดำเนินงานของ Virtual Bank สามารถตอบโจทย์ความต้องการของ ธปท. ที่อยากจะเห็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเงินของกลุ่ม Underbanked 

นอกจากนี้การที่มีธนาคารพาณิชย์ไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ทำให้มีประสบการณ์และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจธนาคารภายใต้การกำกับของ ธปท.มากกว่ากลุ่มที่เป็น Virtual Bank ต่างชาติและลดโอกาสที่จะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สร้างผลกระทบเชิงลบและไม่ยั่งยืนออกมาในอุตสาหกรรม เช่น สินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำเกินไป หรือเงินฝากที่อัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป

สำหรับในช่วงเตรียมความพร้อมและเริ่มต้นจัดตั้ง Virtual Bank ประเมินผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มต่างๆ ดังนี้ 

1.หุ้นธนาคารที่เข้าร่วมในธุรกิจ Virtual Bank (KTB, SCB, BBL) คาดได้ประโยชน์ในระยะยาว จากการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่ม Underbanked และมีโอกาสต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ให้กับลูกค้าของ Virtual Bank แต่ในช่วงสั้นคาดจะมีแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและส่วนแบ่งขาดทุนจาก Virtual Bank 

2.หุ้นธนาคารที่ไม่ได้เข้าร่วม VB แต่มีธุรกิจทับซ้อนกับ VB (KBANK, TTB) คาดจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาระบบ Digital Platform ให้พร้อมสำหรับการแข่งขันกับ Virtual Bank ส่วนธนาคารที่มีธุรกิจไม่ทับซ้อนกันอย่าง TISCOและ KKP คาดผลกระทบจำกัด 

3.หุ้นไฟแนนซ์ คาดกลุ่มสินเชื่อเพื่อการบริโภคอย่าง KTC และ AEONTS จะมีแรงกดดันจากการถูก Virtual Bank เข้ามาแย่งฐานลูกค้า เนื่องจากคาดผลิตภัณฑ์แรกๆ ที่ Virtual Bank จะให้บริการคือสินเชื่อไม่มีหลักประกัน

4.หุ้นกลุ่ม Digital Transformation ที่คาดจะได้อานิสงค์บวกจากเม็ดเงินลงทุนในระบบ Core Banking ใหม่ของ Virtual Bank ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อย่าง BE8 และ BBIK

ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” เนื่องจากมีแรงกดดันจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยที่จำกัดทั้งจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่และ NIM ที่ต่ำลงเรื่อยๆ ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังมีความน่าสนใจในแง่ของการเป็นหุ้นปันผลที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจ เลือก KTB เป็น Top Pick ของกลุ่ม หนุนจากสินเชื่อภาครัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้น และคาดให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลอีกราว 4.6% ส่วนในระยะยาวมองว่าเป็นหนึ่งในธนาคารที่จะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ธุรกิจ Virtual Bank