“กำไรเป็นแค่องค์ประกอบของธุรกิจ แต่ไม่ใช่ Key Success ของการทำธุรกิจ การทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับเราต่างหากถึงจะเรียกได้ว่า ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
นี่คือคำกล่าวของ วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรรณคิวฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตขนมหวานแบรนด์ “แม่ละมาย” อีกหนึ่ง SME ตัวอย่างที่จำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เจ้าของรางวัล SME ยั่งยืน จากเวที เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2023 ที่เริ่มต้นธุรกิจอาหาร ด้วยความรู้จาก 0 จนปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายกว่า 100 ล้านบาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนที่เป็นซัพพลายเออร์ปีละหลายสิบล้านบาท
เปลี่ยน “วุ้น” ให้เป็นมิตรต่อสุขภาพ รสชาติแปลกใหม่
วีระ เล่าย้อนความให้ฟังถึงความเป็นมาของธุรกิจว่า หลังธุรกิจโรงพิมพ์ประสบวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 ตนพร้อมภรรยาตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา มองหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ และวุ้นน้ำมะพร้าวก็เป็นคำตอบ เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม แต่ความรู้ด้านการทำธุรกิจอาหารเป็นศูนย์ จึงต้องศึกษาหาความรู้ให้มากขึ้น พบว่า วุ้นน้ำมะพร้าว NATA de coco ใช้แบคทีเรียกรดน้ำส้ม Acetobacter xylinum ที่พบได้ทั่วไปในการทำน้ำส้มสายชูหมักตามธรรมชาติ มาหมักน้ำมะพร้าว จนได้ออกมาเป็นวุ้นที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีไฟเบอร์สูง ถูกจัดให้อยู่ในหมวดสารอาหารประเภทเส้นใย ไม่มีการใช้สารฟอกสี ทำให้สีของวุ้นจะขุ่นกว่าวุ้นปกติ จึงเหมาะกับผู้รักสุขภาพ
เมื่อได้วัตถุดิบหลักแล้ว ก็มาคิดต่อว่าหากขายแต่วุ้นน้ำมะพร้าวอย่างเดียวก็จะไม่มีความแตกต่าง จึงต้องหาสินค้าทางการเกษตรตัวอื่นมาใส่ และมองว่า เม็ดแมงลัก น่าจะเข้ากับตัววุ้นน้ำมะพร้าวดีที่สุด แต่ปัญหาสำคัญของแมงลัก คือ การปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง จึงได้นำนวัตกรรมเครื่องนวดฝัดเม็ดแมงลักแบบแห้งของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาใช้ เพื่อให้เม็ดแมงลักปราศจากสารปนเปื้อน จนออกมาได้เป็นวุ้นน้ำมะพร้าวผสมเม็ดแมงลักแบบถ้วยวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เมื่อปี 2541 เพียง 20 สาขา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 26 ปี
เดินหน้ายกระดับ “สินค้าเกษตร” สู่ร้านค้าเซเว่นฯ
หลังวุ้นน้ำมะพร้าวผสมเม็ดแมงลักประสบความสำเร็จ วีระ ก็เดินหน้าพัฒนาสินค้าอื่นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักแนวคิดการส่งต่อสินค้าดีๆให้ผู้บริโภค ส่งผลให้ปัจจุบันแบรนด์ แม่ละมาย มีสินค้าวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั้งหมด 10 รายการ แบ่งเป็น ขนมหวาน 7 รายการ เครื่องดื่ม 2 รายการ และธัญพืช (แห้ว) 1 รายการ ซึ่งแห้วถือเป็นสินค้าใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค เนื่องจากมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ดีต่อสุขภาพ และเป็นธัญพืชที่หาทานค่อนข้างยาก เพราะแห้วที่ดีคือ แห้วที่เป็นผลผลิตจาก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพืชที่ได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
ทั้งนี้ แม่ละมาย ยังมุ่งมั่นยกระดับพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นให้มีคุณภาพ พร้อมส่งต่อสู่ผู้บริโภค อาทิ ลูกตาล ลูกลาน ใบเตย โดยเลือกรับซื้อสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกรที่เพาะปลูกแบบไร้สารเคมี ผ่านการตรวจสอบจากทางบริษัทก่อนจัดเก็บ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่ายให้กับผู้บริโภค
“โตไกลไปด้วยกัน” คาถาโตยั่งยืน
แม้ปัจจุบันบริษัทจะมีสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพียง 10 รายการ ในราคาขายต่อชิ้นเพียงหลักสิบบาท แต่บริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละประมาณ 20-40% ทุกปี โดยในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มียอดขาย 150 ล้านบาท เหตุใด “แม่ละมาย” ที่จำหน่ายสินค้าในราคาหลักสิบ จึงสามารถสร้างรายได้สูงถึงหลัก 100 ล้านบาท
วีระ กล่าวว่า บริษัทจะประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีทีมที่ดี ทีมที่แข็งแกร่ง ซึ่งทีมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทีมภายในบริษัท แต่หมายถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริษัทในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ทีมต้นทางอย่างเกษตรกรและซัพพลายเออร์ก็ต้องดูแลผลผลิตให้ได้คุณภาพตามความต้องการ ทีมกลางทางอย่างบริษัทก็ต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดีมีคุณภาพ ตั้งแต่ระบบการคัดเลือกวัตถุดิบ โดยทางบริษัทจะมีการบันทึกแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อเวลามีปัญหาบริษัทจะได้เข้าไปแก้ไขได้ตรงจุด เป็นต้น มีพันธมิตรที่คอยสนับสนุนและประสานงานในทุกด้าน และ เซเว่น อีเลฟเว่น ถือเป็นพันธมิตรที่อยู่เคียงข้างมาตลอด พร้อมมอบความรู้และคำแนะนำดีๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการอบรม การหา
พันธมิตรในการเชื่อมโยงเครือข่ายในการต่อยอดสินค้า เป็นต้น ทำให้บริษัทสามารถส่งต่อความรู้เหล่านั้นสู่ทีมต้นทาง เพื่อผลิตวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพพร้อมส่งต่อไปยังผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพก็จะเกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ เรียกว่าเป็นการสร้างการเติบโตไปด้วยกันในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง กำไรหรือเรื่องเงินเป็นแค่องค์ประกอบของการทำธุรกิจ แต่ไม่ใช่ Key Success ของธุรกิจ ถ้าทำธุรกิจได้แบบนี้ยังไงก็ประสบความสำเร็จและเติบโตยั่งยืน ปัจจุบันบริษัทรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั่วประเทศและสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนปีละหลาย 10 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของยอดขาย
“แม่ละมาย” ถือเป็นอีกหนึ่งแบบอย่าง SME ที่น่าเรียนรู้ถึงกลยุทธ์และวิธีการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน เพราะการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มยอดขายในระยะสั้น แต่เป็นการพัฒนาสมดุลระหว่างธุรกิจ คู่ค้า และผู้บริโภคแบบระยะยาว สอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืนของซีพี ออลล์ ในเรื่องการสร้างอาชีพ ตามปณิธานองค์กร Giving and Sharing