จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ทิศทางดอกเบี้ยขาลง หนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้น


20 กันยายน 2567

กระแสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯที่ปรับลดดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี มากถึง 0.5% ส่งผลกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้สดใส

รายงานพิเศษ RICHY copy.jpg

ภายหลังการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐมากถึง 0.5% ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี  ทำให้เกิดกระแสกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามกระแสให้ตลาดโลก โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกน่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มองว่า จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ตลอดจนทิศทางนโยบายการเงินของโลกด้วย

แต่การพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีอิสระในเรื่องการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย

"แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะภาคการผลิต ที่เริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังจากติดลบหนักหลายเดือน และภาคการบริโภคที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ แต่สิ่งที่คลังอยากเห็น คือ โมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่จะเป็นแรงส่ง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้นนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง จำเป็นจะต้องทำงานสอดคล้องกันด้วย" รัฐมนตรีช่วยคลัง ระบุ

มุมมองการปรับลดดอกเบี้ยของธปท. ยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์  โดยนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุด กล่าวว่า หลังจากที่เห็นการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนวันที่ 18 ก.ย.67 ลง 0.50%  ก็มีความหวังจะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยลดลงตามในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้เช่นเดียวกัน  ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งผู้ประกอบการ และผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพราะต้นทุนการกู้ยืมลดลง จากภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงตาม 

รวมถึงขอให้ภาครัฐ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ซึ่งจะช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มาก เพราะจากสถิติที่ผ่านมา เมื่อมีการนำเกณฑ์ LTV มาใช้ ภาคอสังหาริมทรัพย์จะติดลบ แต่เมื่อมีการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เมื่อไร ภาคอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาเป็นบวก

"อยากเห็นการลดดอกเบี้ยลงมา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อใหม่ และประคับประคองการเป็นหนี้เสียของคนที่กำลังผ่อนสินเชื่อ นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ย ยังมีอานิสงส์ให้เงินบาทไม่แข็งค่าเร็วเกินไป ทำให้ดึงดูดลูกค้าต่างชาติสนใจที่จะซื้อ และรับโอนห้องชุดเร็วขึ้น ส่วน LTV ต้องยอมรับว่าปลดล็อก LTV ช่วยกระตุ้นตลาดล่างไม่ได้แล้ว แต่จะมีโอกาสกระตุ้นราคา 5-7 ล้านขึ้นไป ลูกค้ามีศักยภาพ มีเงินออมในระบบ และซื้อเป็นบ้านหลัง 2-3 กลุ่มนี้ชอบที่ดอกเบี้ยบ้านต่ำ ถ้าปลดล็อก LTV ไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์ 20-30% เขาก็พร้อมจะออกมาซื้อให้ลูกให้หลาน" นายประเสิรฐ กล่าว

ขณะที่นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคาในช่วง 5-10 ล้านบาท พฤติกรรมการซื้อเป็นกลุ่มมีความสามารถซื้อบ้านหลังที่ 2 เป็นคนที่มีเงินเก็บในระบบธนาคาร ไม่เหมือนกลุ่มต่ำกว่า 5 ล้านบาท ที่ซื้อเป็นบ้านหลังแรก จึงอยากให้รัฐบาลโฟกัสในการสนับสนุนการซื้อบ้านราคา 5-7 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากซื้อเพราะย้ายที่ทำงาน ใกล้โรงเรียนของลูก หรือคนที่มีพ่อแม่อยากอยู่ชานเมือง ยังมีเหตุผลกลุ่มนี้มีการซื้อเพื่อความจำเป็นในการทำธุรกิจ และซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่าให้กับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ ยังมองว่าภาครัฐอาจจะพิจารณาเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งปัจจุบันให้การลดหย่อนวงเงิน 100,000 บาท แต่อยากเสนอให้ขยายเพดานใหม่ เป็น 300,000-500,000 แสนบาท เพื่อให้มีรายได้เหลือมาผ่อนที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจได้ ซึ่งเป็นการช่วยให้คนมีกำลังในการผ่อนเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ นางสาวพิชญา ตันโสด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ริชี่ เพลซ 2002 (RICHY)  เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/2567 มีแผนขยายการลงทุนโครงการอสังหาฯ แนวราบอีก 4 โปรเจค รองรับดีมานด์ลูกค้า และเตรียมขยายธุรกิจกลุ่ม Recurring Income เปิดให้บริการธุรกิจห้องเช่าและคอมมูนิตี้มอลล์เพิ่ม ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้จากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ารายได้ปีนี้จะสามารถเติบโต 50% ตามแผนงานที่วางไว้