Fund / Insurance

กสิกรฯ คงคาดการณ์ GDP ไทยปี 67 โต 2.6% จับตาผลกระทบน้ำท่วม-เลือกตั้งสหรัฐ


23 กันยายน 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ที่ 2.6% จากการฟื้นตัวของการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดธปท.ลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปีนี้ หลังเงินเฟ้อปรับลง และลดแรงกดดันเงินบาท แนะจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งผลการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

กสิกรฯ คงคาดการณ์ GDP copy.jpg

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ที่ 2.6% จากการฟื้นตัวของการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีอัตราเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากน้ำท่วม แนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า และมีประเด็นที่ต้องจับตาคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ส่วนภาคการเงินโจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่จะยังเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ใกล้ระดับ 90% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทำให้โอกาสการเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัด โดยสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยปีนี้ คงโตไม่เกิน 1.5% ท่ามกลางความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง

ขณะที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในโลกที่ยังคงอยู่ ควบคู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่ปรับลดลง  คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven Assets) อย่างทองคำ ยังได้รับแรงหนุน ซึ่งที่ผ่านมา ทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง

ด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ลดดอกเบี้ยลง 0.5% ในการประชุมที่ผ่านมามากกว่าที่คาดไว้ และได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569 เป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง 

ซึ่งการที่เฟดปรับลดดอกเบี้ย ก็ทำให้มีเหตุผลมากขึ้นที่อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยได้ และอาจมีแนวโน้มที่จะเห็นการลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปลายปีนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณการลดดอกเบี้ยจาก ธปท. ทั้งนี้ มองว่า ปัจจุบันสามารถลดดอกเบี้ยได้ เพราะตอนนี้เงินเฟ้อต่ำมาก และเงินบาทแข็งค่ามาก และภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับกลาง ๆ ซึ่งการลดดอกเบี้ยยังเป็นการช่วยลดช่องว่างของเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ลงด้วย

อย่างไรก็ดี มีความกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่ เนื่องจากบาทแข็งจะกระทบกับผู้ส่งออกค่อนข้างมาก ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะยังไปได้ดี โดยปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเกินเป้า 36 ล้านคน

ด้าน น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก สร้างความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจไทย ซึ่งมองว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โอกาสในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง ในขณะที่ความเสี่ยงเกิดจากผลกระทบที่เกิดจากมาตรการกีดกันการค้าโลก และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากเกิด Trade War 2.0 ที่สหรัฐอเมริกา อาจมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 60% และการนำเข้าจากที่อื่นๆ เป็น 10-20% น่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ยังไม่โดนเก็บภาษีจาก Trade War 1.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานสูง (Labor-Intensive) และไทยอาจได้ผลบวกไม่มาก

ขณะที่ น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  มองว่า ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก จะเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย อาจเสี่ยงเผชิญการผลิตที่ล้นเกิน เพราะยากจะหวังพึ่งการส่งออก และตลาดในประเทศคงไม่โตได้มากเท่าที่คาด

ส่วนมูลค่าความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ถ้าสถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้น มาถึงภาคกลาง และภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ ก็มีโอกาสที่ความเสียหายจะพุ่งไปแตะ 30,000 ล้านบาทได้ แต่มองว่ายังมีโอกาสน้อยมาก ที่จะมีความรุนแรงในระดับนั้น ส่วนปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เบื้องต้นมองว่าหลายองค์กรได้จ่ายค่าจ้างเกิน 400 บาทไปแล้ว ทั้งนี้ มีมุมมองว่า อยากเห็นการปรับค่าจ้างไปตามทักษะของแรงงานแต่ละคนมากกว่า