จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : คาดไทยทุ่มงบด้านความปลอดภัยข้อมูล งวดปี 67 กว่า 1.64 หมื่นลบ. หนุนผลงาน I2 แกร่ง


23 กันยายน 2567
เทคโนโลยีนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่ภัยจากไซเบอร์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดการเติบโตขององค์กร ซึ่งการ์ทเนอร์ คาดปี 67 ไทยใช้จ่ายด้านความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้ปลายทางแตะ1.64 หมื่นล้านบาท หนุนผลงานบมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (I2) โตแข็งแกร่งแตะ20% 

รายงานพิเศษ คาดไทยทุ่มงบด้านความปลอดภัยข.jpg

การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมียอดใช้จ่ายด้านความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้ปลายทางมูลค่ารวมอยู่ที่ 18,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายรวมที่ 16,400 ล้านบาท

โดย “ชัยเลนดรา อูปัดห์เญ” หัวหน้าฝ่ายวิจัยอาวุโสการ์ทเนอร์กล่าวว่า "จากสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการย้ายไปใช้ระบบคลาวด์และปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ ทำให้ความปลอดภัยกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆขององค์กร และกดดันให้ผู้บริหารด้านความปลอดภัยข้อมูลหรือ CISO ต้องเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายด้านความปลอดภัยให้กับองค์กร"

"นอกจากนั้น เวลานี้องค์กรต่าง ๆ อยู่ในขั้นของการประเมินประสิทธิภาพแพลตฟอร์มการป้องกันที่ปลายทางหรือ Endpoint Protection Platform (EPP) และ Endpoint Detection and Response หรือ EDR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ช่วยตรวจสอบภัยคุกคามในตำแหน่งข้อมูลและลดภัยคุกคามได้โดยอัตโนมัติ เพื่อปรับเปลี่ยนและเพิ่มความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน รวมถึงตอบสนองต่อเหตุการณ์หลังการหยุดให้บริการของ CrowdStrike

การนำ AI และ GenAI มาใช้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มการลงทุนในตลาดซอฟต์แวร์ความปลอดภัย (Security Software) มากขึ้น อาทิ ในด้านแอปพลิเคชันความปลอดภัย (Application Security), ความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว (Data Security and Privacy) และการปกป้องโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Protection) ในปี 2568 GenAI จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้แหล่งทรัพยากรความปลอดภัยทางไซเบอร์จำเป็นต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น และคาดว่าจะทำให้การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ความปลอดภัยเพิ่มขึ้น 15% 

นับตั้งแต่ GenAI เปิดตัว แฮกเกอร์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ร่วมกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เพื่อสร้างการโจมตีแบบ Social Engineering โดยมุ่งเป้าขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ การ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี 2570 การโจมตีทางไซเบอร์/การรั่วไหลของข้อมูล 17% จะเกี่ยวข้องกับ Generative AI ทั้งสิ้น

เมื่อองค์กรยังคงย้ายไปใช้ระบบคลาวด์ นักวิเคราะห์การ์ทเนอร์คาดว่าการลงทุนในโซลูชันความปลอดภัยบนคลาวด์จะเพิ่มขึ้น รวมถึงสัดส่วนการลงทุนในโซลูชันคลาวด์เนทีฟก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน สำหรับตลาดตัวกลางรักษาความปลอดภัยของการเข้าถึงระบบคลาวด์หรือ Cloud Access Security Brokers (CASB) และแพลตฟอร์มการปกป้องภาระงานในคลาวด์หรือ Cloud Workload Protection Platforms (CWPP) คาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่ารวมกันถึง 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ ที่ 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การขาดแคลนทักษะในอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลก เป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการลงทุนในตลาดบริการด้านความปลอดภัย (ซึ่งประกอบด้วย บริการที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย, บริการด้านความปลอดภัยระดับมืออาชีพ และบริการการจัดการด้านความปลอดภัย) และคาดว่าการลงทุนในด้านนี้จะเติบโตรวดเร็วกว่ากลุ่มการลงทุนด้านความปลอดภัยด้านอื่น ๆ

ภัยจากไซเบอร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่คุกคามผู้ใช้บริการด้านเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางไซเบอร์มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก รวมถึงธุรกิจของ บมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (I2)  ที่ประกอบธุรกิจบริการ System Integration (SI) แบบครบวงจร ได้แก่ ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  

ซึ่ง “อธิพร ลิ่มเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มั่นใจแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 67  ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากการทยอยรับรู้รายได้จากการส่งมอบงานในมือ (Backlog) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1,800 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าเข้าร่วมประมูลงานโครงการของภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนร่วมประมูลงานใหม่รวมมูลค่าประมาณ 6,455 ล้านบาท และมีงานที่รอเซ็นสัญญาอีกไม่ต่ำกว่า 20% ของมูลค่ารวมงานประมูล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในปี 67 มีรายได้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 20%
I2