ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้มีความเคลื่อนไหวมาอย่างร้อนแรงตั้งแต่ต้นเดือน ซึ่งระหว่างทางก็จะมีการพักฐานหรือปรับตัวลงมาบ้าง แต่ดัชนีก็ยังสามารถยืนเหนือ 1,400 จุด ได้ ซึ่งทำให้นักลงทุนอาจจะยังหาจังหวะลงทุนได้ยาก ในวันนี้ทางเราจึงได้นำกลยุทธ์ลงทุนพร้อมกับปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไปมาแบ่งปันกัน
โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหว Underperform ภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2566 จากปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจโลกที่ลดลง เพราะผลจากการทำ QT และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ประกอบกับ กระแสเงินเลือกเก็งกำไรในหุ้นเติบโตสูงที่มีความเชื่อมโยงกับ AI, Cloud, และData Center ที่เป็นเมกะเทรนด์ใหม่ ซึ่งตลาดหุ้นไทยไม่มีบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยตรง
อีกทั้ง ผลจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่ใช้เวลานานและการพิจารณางบประมาณจากสภาฯ ที่ล่าช้าเป็นประวัติการณ์ ทำให้จีดีพีปี 2566 โตต่ำเพียง 1.9% และ ครึ่งปีแรกปี 67 ก็โตเฉลี่ยเพียง 1.9% เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้งในเดือนส.ค. 2567 พบว่ามี 5 จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมา Outperform ภูมิภาค
1. การกลับสถานะ Yen Carry Trade (ขายดอลลาร์สหรัฐฯ และซื้อเงินเยน) ส่งผลให้เงินไหลออกจากหุ้นเติบโตมาหาหุ้นมูลค่ามากขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยของเงินสกุลเยน ที่เคยเป็นต้นทุนในการกู้ยืมที่ถูกที่สุดในโลก กำลังพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น ทำให้หุ้นเติบโตที่เคยได้ประโยชน์จากการทำ Yen Carry Trade มีโอกาสถูกขายเพื่อลดความเสี่ยง ตรงข้ามกับหุ้นมูลค่า ที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจกรรมดังกล่าวเพียงเล็กน้อยจึงได้รับผลกระทบจากการกลับสถานะ Yen Carry Trade จำกัดกว่า
2. เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแอ จะหนุนกระแสเงินไหลออกจากตลาดพัฒนาแล้วมาหาตลาดกำลังพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่จีดีพีโตเร่งขึ้น ซึ่งถ้าอิงประมาณการของ IMF คาดจีดีพีปี 2568 ของทั้งโลกปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหรือ 0.1% เป็น 3.2% จากช่วงเดียวกัน และคาด GDP ปี 2568 ของตลาดพัฒนาแล้วทรงตัวที่ 1.8% ส่วนของสหรัฐฯ คาดชะลอตัวเหลือ 1.9% จากช่วงเดียวกัน จากเพิ่มขึ้น 2.6% ในปีนี้ ขณะที่ประเทศไทยคาดเพิ่มขึ้น 3.1% เร่งตัวขึ้นจาก 2.9% ในปีนี้ จึงมีโอกาสได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินที่กระจายการลงทุนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ
3. การปรับลดดอกเบี้ยของเฟด เป็นผลบวกต่อตลาดกำลังพัฒนาและตลาดหุ้นไทย เพราะทำให้ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลง และหนุนให้เงินสกุลตลาดกำลังพัฒนาแข็งค่าขึ้น ซึ่งถ้าอิงสถิติการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดพบว่า ดัชนีตลาดหุ้นมักเคลื่อนไหวได้ดีกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยไปแล้วในช่วง 1 เดือน, 3 เดือน, และ 1 ปี ตามลำดับ
4. รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการกระตุ้นการบริโภคครั้งใหญ่และหนุนการลงทุนในเมกะโปรเจค ซึ่งนอกจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคครั้งใหญ่ โดยการแจกเงินกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคนแล้ว รัฐบาลชุดนี้ยังกลับมาให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการ Entertainment Complex ด้วย ซึ่งเป็นบวกต่อจีดีพีและเป็นบวกกับหุ้นหลายกลุ่ม เช่น รับเหมาก่อสร้าง, วัสดุก่อสร้าง,ท่องเทียว, และค้าปลีกขนาดใหญ่
5. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุน ทั้งการจำกัดดาวน์ไซด์ให้กับดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยการตรวจสอบ+ควบคุมธุรกรรม Short Sell และการเปิดอัพไซด์ผ่านการระดมทุนจากสภาพคล่องส่วนเกินในประเทศ เพื่อเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยตามกลไกของกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งเคยใช้เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนแล้วสัมฤทธิ์ผลอย่างมากในปี 2546-2549
นอกจากนั้น คาดว่าภาวะ Outperform ของดัชนีตลาดหุ้นไทยจะช่วยเพิ่มสัดส่วนของหุ้นไทยในดัชนีสำคัญทั้ง MSCI และ FTSE ซึ่งจะหนุนให้การปรับดัชนีในระยะถัดไป มีโอกาสเปลี่ยนเป็นเพิ่มน้ำหนักจากที่ถูกลดน้ำหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน้ำหนักใน MSCI Emerging Market ที่เพิ่มขึ้นทุก 0.1% จะหนุนเม็ดเงินไหล เข้าตลาดหุ้นไทยราว 20,000 ล้านบาท
ขณะที่ธีมการลงทุนหลังจากนี้ แนะนำให้น้ำหนักการลงทุนไปที่ 1.ภาวะดอกเบี้ยขาลง 2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และ Trade War 3.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ 4.การสนับสนุนการลงทุนในหุ้น ESG ผ่านกองทุนประหยัดภาษีและวายุภักษ์
สำหรับหุ้นที่น่าสนใจ ประกอบไปด้วย หุ้นไฟแนนซ์ (TIDLOR, BAM) หุ้นโรงไฟฟ้า (GPSC, BCPG) หนุ้รับเหมาก่อสร้าง (CK, STEC) หุ้นสื่อสาร (INTUCH, THCOM, SYMC) กองรีท (3BBIF, INETREIT, BAREIT) หุ้นค้าปลีก (BJC, CRC, CPALL, CPAXT) และหุ้นสินค้าอุปโภคบริโภค (OSP, CBG, SABINA)