เมื่อกระแสรักษ์โลกและการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจถ่านหิน ได้รับผลกระทบตามไปด้วย และจะส่งผลกดดันราคาและผลประกอบการของธุรกิจถ่านหินในระยะยาว
หากถอดบทวิจัยของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในปี 2567 คาดว่าอุปสงค์ถ่านหินโลกจะเติบโต 0.4% ชะลอตัวจากที่เติบโต 2.6% ในปีก่อนหน้า
ความต้องการถ่านหินในจีนซึ่งมีสัดส่วนกว่า 56% ของอุปสงค์ถ่านหินโลก ลดลงจากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ฟื้นตัว ประกอบกับความต้องการถ่านหินใน EU ที่ลดลงจากกระแสรักษ์โลกและการเก็บภาษีคาร์บอน ส่งผลให้ EU หันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นกว่า 13% จากปีที่ผ่านมา
ในปี 2567 คาดว่าจำนวนถ่านหินจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตเพียง 1.7% หรือเพิ่มขึ้น 4.43 แสนตันจากปีก่อน สอดคล้องกับทิศทางอุปสงค์ตลาดโลก
โดยราคาถ่านหินมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายถ่านหินในปีนี้จะเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ราคาถ่านหินอินโดนีเซียลดลงแล้วกว่า 49% สอดคล้องกับทิศทางราคาถ่านหินในออสเตรเลียที่ลดลงไปราว 30% จากภาวะเศรษฐกิจและอุปสงค์ถ่านหินโลกที่ชะลอตัว รวมถึงกระแสรักษ์โลกและการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะส่งผลกดดันราคาและผลประกอบการของธุรกิจถ่านหินในระยะยาว
ในส่วนของตลาดถ่านหินในประเทศไทย อุปสงค์ถ่านหินในประเทศปี 2567 มีแนวโน้มหดตัวราว 6.3% แม้ความต้องการในภาคการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นราว 4.5% แต่ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมลดลงแรงกว่า 25%
ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมถ่านหินไทย
ตลาดในประเทศ
1.ความต้องการใช้ถ่านหินในไทยมีแนวโน้มลดลงจากร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวของไทย (PDP 2024) ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทน โดยมีแผนการลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเหลือเพียง 7% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จากที่อยู่ราว 14% ในปี 2567 ในขณะเดียวกัน สัดส่วนพลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 51% จากปัจจุบันที่ 22%
2.ภาคอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงพลังงานลดลง เนื่องจากพ.ร.บ. Climate Change และกฎระเบียบการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการส่งออกไปยัง EU ซึ่งมีการใช้มาตรการ CBAM ที่มีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในการผลิต (Low carbon cement)
ตลาดต่างประเทศ
1.ความต้องการถ่านหินในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวลดลงจากกระแสรักษ์โลก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักอย่างจีน ที่หันไปพึ่งพาพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภายในปี 2603 จีนตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ให้มีสัดส่วน 80% ของการผลิตพลังงานทั้งหมด ในขณะที่ลดจานวนการใช้ถ่านหินเหลือเพียง 5%
2.อินเดียมีนโยบายหันมาพึ่งพาถ่านหินที่ผลิตในประเทศตนเองมากขึ้น โดยมีการตั้งเป้าว่า ภายในปี 2573 จะเพิ่มกาลังการผลิตถ่านหินจากภายในประเทศเป็น 1,522 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 70% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลทาให้การนาเข้าถ่านหินของอินเดียจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว
สำหรับผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจถ่านหินที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ประกอบด้วย BANPU, AGE, LANNA, TCC และ UMS
สำรวจปัจจัยพื้นฐาน
หากเข้าไปสำรวจบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานหุ้นดังกล่าว พบว่า นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมิน BANPU โดยแนะนำ TRADING ด้วยมุมมองที่เป็นบวก ปรับไปใช้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2568 ที่ 7.00 บาท
หลังความคืบหน้าการนำ BKV เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ จะเป็น Catalyst หนุนราคาหุ้น BANPU ช่วงที่เหลือของปีให้สูงขึ้นจากปัจจุบันที่ซื้อขายบน PBV ไม่ถึง 0.5 เท่า อีกทั้งมองข้ามไปช่วงไตรมาส 4/67 – 1/68 หุ้นมีปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ High Season ของการใช้พลังงานในฤดูหนาว ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเร่งตัวขึ้น
โดย BKV (บริษัทย่อยของ BANPU) ได้ประกาศเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 15 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย เบื้องต้น 19 – 21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ New York Stock Exchange (NYSE)
มูลค่าราคาตลาดหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO จะอยู่ในช่วง 1.5 - 1.7 พันล้านเหรียญฯ หรือราว 5.1 – 5.7 หมื่นล้านบาท
ส่วน AGE ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร มาอยู่ที่ระดับ “BB+” จากระดับ “BBB-” โดยการปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่อง และการประเมินของทริสเรทติ้งถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรที่น่าจะช้าลง ซึ่งจะส่งผลทำให้ตัวชี้วัดเครดิตที่อ่อนแอของบริษัทนั้นยืดเยื้อต่อไป
ทริสเรทติ้งคาดว่า AGE จะมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาจากความตั้งใจของฝ่ายบริหารที่จะดำเนินการคัดเลือกลูกค้าอย่างระมัดระวังและใช้มาตรการควบคุมต้นทุนในเชิงรุก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่ากำไรของบริษัทน่าจะฟื้นตัวช้าด้วยแรงกดดันที่มีอยู่จากแข่งขันในตลาดอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น และอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนตัว
ด้วยเหตุนี้ ทริสเรทติ้งจึงปรับลดการคาดการณ์ของผลกำไรโดยปรับลดอัตรากำไรขั้นต้นในธุรกิจถ่านหินของบริษัทลง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทน่าจะติดลบในปี 2567 และคาดว่า EBITDA จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2568-2569 แต่อาจจะยังคงต่ำกว่า 700 ล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ในช่วง 4-8 เท่าในระหว่างปี 2568-2569 ซึ่งจะสูงกว่าเกณฑ์สำหรับการคงอันดับเครดิตก่อนหน้านี้
ขณะที่ LANNA, TCC และ UMS ยังไม่มีการประเมินปัยจัยพื้นฐานจากนักวิเคราะห์