Fund / Insurance

กสิกรไทยมองมาตรการหนุนศก.ครั้งใหม่ของจีน หนุนตลาดหุ้นระยะสั้นแต่ผลต่อเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน


26 กันยายน 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุมาตรการหนุนเศรษฐกิจครั้งใหม่ของจีนช่วยหนุนตลาดหุ้นระยะสั้น แต่ผลต่อเศรษฐกิจจีนยังไม่ชัดเจน

กสิกรไทยมองมาตรการหนุนศก. copy.jpg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผู้ว่าธนาคารกลางจีนได้แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนครั้งใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ดังนี้ 

1. มาตรการหนุนตลาดหุ้นจำนวนเงิน 800 พันล้านหยวนผ่านสองโครงการใหม่ คือ 

Swap Facility (500 พันล้านหยวน) ธนาคารกลางจีนจะให้สภาพคล่องพิเศษเพื่อนำมาซื้อหุ้นแก่บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน และบริษัทประกันภัยผ่านการนำทรัพย์สินมาค้ำประกัน

Special re-lending program (300 พันล้านหยวน) โดยจะให้สภาพคล่องสำหรับบริษัทจดทะเบียน และผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อนำไปซื้อหุ้นคืน 

2. ธนาคารกลางจีนปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์  เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านการปรับลดต้นทุนการกู้ยืม รวมถึงปรับลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์  เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบประมาณ 1 ล้านล้านหยวน และส่งสัญญาณปรับลดเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี 67

3. มาตรการหนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านสามเรื่องสำคัญ ได้แก่ 

1) การปรับลดเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับการซื้อบ้านหลังที่สองจาก 25% มาอยู่ที่ 15%  

2) การปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่เดิม (Existing Mortgage) ลงเฉลี่ย 0.5% ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ให้กับ 50 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า 1.5 แสนล้านหยวนต่อปี (0.1% ของ GDP) 

3) เพิ่มสัดส่วนการกู้ยืมในโครงการ Re-lending สำหรับการซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้วและนำไปปรับปรุงเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับให้เช่าเป็น 100% จาก 60%

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของจีนสะท้อนความกังวลของผู้ดำเนินนโยบายต่อเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัว ในขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน  เนื่องจากปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจจีนคือความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ แต่มาตรการล่าสุดยังขาดมาตรการที่จะช่วยปัจจัยหนุนการบริโภคได้โดยตรง ซึ่งมองว่ามาตรการทางการคลังขนาดใหญ่อาจจะต้องทำควบคู่ไปด้วย

และขนาดของมาตรการยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จีนเผชิญอยู่ ทั้งนี้ ในปี 2551 ทางการจีนกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 4 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 15% ของ GDP จีน ในขณะที่แพคเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้เฉพาะที่เป็นตัวเงินคิดเป็น 3.3% ของ GDP (ไม่รวมผลจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย  และมาตรการอสังหาริมทรัพย์) 

อย่างไรก็ดี มาตรการหนุนตลาดหุ้นจะเข้ามาช่วยหนุน sentiment การลงทุนได้ในระยะสั้น แต่แนวโน้มในระยะยาวยังคงต้องติดตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ