Talk of The Town

โบรกฯ คาดกำไรกลุ่มแบงก์ Q3 โต 3% งวด 9 เดือนแตะ 1.68 แสนลบ. เพิ่มขึ้น 4.7% ลุ้น VAYU 1 ดันค่าธรรมเนียม-พอร์ตลงทุนเด่น


01 ตุลาคม 2567

โบรกฯ คาดกำไรกลุ่มแบงก์ Q3 โต 3__S2T (เว็บ)_0.jpg

บล.พาย เผยแพร่บทวิเคราะห์ ประเมินกลุ่ม BANKING คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” KTB TCAP เป็นหุ้นเด่น เนื่องจากคาดผลกำไรสุทธิรวมของธนาคาร 9 แห่งใน ไตรมาส 3/67 ที่ 54.9 พันล้านบาท (+3.0% จากปีก่อน, -2.5% จากไตรมาสก่อน)

และกำไรสุทธิรวมในงวด 9 เดือน ที่ 168.3 พันล้านบาท (+4.7% จากปีก่อน) เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวเปาะบางกดดันการขยายตัวสินเชื่อ ธนาคารยังต้องควบคุมคุณภาพสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนความเสี่ยง ขณะที่อานิสงส์จากเม็ดเงินใหม่จากการลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (VAYU 1) ช่วยปลุกธุรกิจตลาดทุนฟื้นตัวหนุนรายได้ค่าธรรมเนียมและพอร์ตลงทุนมีผลตอบแทนดีขึ้น

ด้านคุณภาพสินเชื่อแม้จะอ่อนแอลง แต่อยู่ในระดับที่ธนาคารดูแลได้ตามเป้าหมาย ภายใต้การขยายตัวเศรษฐกิจที่จำกัด เรามองว่าธนาคารเข้าสู่ยุคการเติบโตของกำไรสุทธิระดับปานกลางที่ 4.8%/4.5%/5.6% ในปี 2567-2569 (2566: +18.9%) 

ขณะที่ ROE ค่อนข้างทรงตัวที่ 8.9-9.0% ในปี 67-69 ด้าน SETBANK ปรับขึ้นโดดเด่น 12.7% จากไตรมาสก่อน ใน ไตรมาส 3/67 ทำให้ราคาหุ้นธนาคารพักตัวระยะสั้น แต่เรามองว่าการลงทุนในระยะยาว Valuation ยังไม่แพง กลุ่มธนาคารซื้อขายที่ 0.65x PBV’25E หรือราว -1.0SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่ 5.6%-6.1% ในปี 2024-26 เราคงน้ำหนักการลงทุน "เท่ากับตลาด" เลือก KTB TCAP เป็นหุ้นเด่น

กำไรสุทธิรวมในไตรมาส 3/67 ไม่เด่น แต่คาดยังขยายตัวได้ 3% จากปีก่อน 

เราคาดธนาคาร 9 แห่งจะรายงานกำไรสุทธิรวมในไตรมาส 3/67 ที่ 54.9 พันล้านบาท (+3.0% จากปีก่อน, -2.5% ไตรมาสก่อน) โดยกำไรเติบโตจากปีก่อน 

หนุนจาก (1) รายได้ดอกเบี้ยที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้อานิสงส์จากภาวะการลงทุนฟื้นตัว และ (2) สำรองหนี้ฯ ปรับลดลง แต่กำไรจะลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากสินเชื่อหดตัว และ NIM ลดลง และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นที่เป็นปกติธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และการลงทุนในระบบไอทีเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังปี 67

เราคาดว่าจะไม่มีธนาคารที่รายงานกำไรเติบโตโดดเด่นทั้ง จากปีก่อน และไตรมาสก่อน แบ่งเป็น (1) SCB คาดกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อน (2) BBL KBANK KTB TCAP TTB เป็นกลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตจากปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน (3) CREDIT KKP เป็นกลุ่มที่กำไรโตไตรมาสก่อน แต่ลดลง จากปีก่อน และ (4) TISCO คาดกำไรสุทธิลดลงจากปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อน

สินเชื่อรวมหดตัว 1% จากไตรมาสก่อน ฉุดสินเชื่อรวมใน 9 เดือนแรก ลดลง 0.9% จากปีก่อน

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปาะบางและไม่ทั่วถึง รวมกับธนาคารคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ทำให้สินเชื่อรวมมีแนวโน้มอ่อนแอลงในไตรมาส 3/67 เราคาดว่าสินเชื่อรวมจะลดลง 1% จากไตรมาสก่อน และฉุดให้ปรับลดลง 0.9% จากปีก่อน ใน 9 เดือนแรก โดยแม้มองว่าสินเชื่อรวมจะกลับมาขยายตัวในไตรมาส 4/67 เพราะเศรษฐกิจขยายตัวและเป็นฤดูกาลใช้จ่ายสูง แต่เราปรับลดการเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 67 เหลือ 0.9% จากเดิม 1.9%

กลยุทธ์การตั้งรับที่ต้องแลกมาด้วยสินเชื่อไม่ขยายตัว ธนาคารจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้และไม่ส่งผลอย่างมีนัยต่อพื้นฐาน เราคาดว่า NPL ratio เฉลี่ยของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากไตรมาสก่อน ที่ 3.8% เป็นผลให้ธนาคารสามารถผ่อนคลายการตั้งสำรองหนี้ฯ ลงได้ และคาดว่า Coverage ratio ของกลุ่มธนาคารยังทรงตัวสูงที่ 178% ใน ไตรมาส 3/67 สู่ยุคการเติบโตปานกลาง เน้นการควบคุมคุณภาพสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนความเสี่ยง

เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 67 แม้จะได้อานิสงส์จากเม็ดเงินการเบิกจ่ายงบประมาณและภาคการท่องเที่ยว แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเน้นไปที่ผลบวกระยะสั้น มากกว่าจะสร้างการเติบโตยั่งยืนและเสริมศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว ทำให้ธนาคารต้องหาโอกาสการเติบโตในตลาดต่างประเทศที่โตมากกว่าในไทย นอกจากนี้ ธนาคารเน้นตั้งรับปล่อยกู้อย่างระมัดระวังในกลุ่มลูกค้าที่แข็งแกร่ง หันมาควบคุมคุณภาพสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนความเสี่ยงลงและเพิ่มประสิทธิภายด้วยการลงทุนผ่านระบบไอทีมากขึ้น

กลุ่มธนาคารกำลังเข้าสู่ยุคของการเติบโตปานกลาง เราคาดว่ากำไรสุทธิรวมจะปรับเพิ่มขึ้นได้ แต่ในอัตราชะลอตัวที่ 4.8%/4.6% ในปี 2567-2568 (2566: +18.4%) หนุนจากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และสำรองหนี้ฯ ลดลง ดังนั้น ผลกระทบจากกำไรที่เติบโตชะลอตัว เราคาดว่า ROE จะทรงตัวที่ 8.9% ในปี 2567-2568 (2566: 8.9%)

การบริหารเงินกองทุนที่มีประสิทธิภาพช่วยรักษาระดับความสามารถทำกำไรในภาวะที่การเติบโตกำลังชะลอตัว ด้วยเงินกองทุนแข็งแกร่ง เราคาดว่าธนาคารจะให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่น่าดึงดูดเฉลี่ยที่ 5.6%/5.8% ในปี 2567-2568

คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เพราะแม้อัตราการเติบโตของกำไรจะไม่โดดเด่น แต่พื้นฐานของธนาคารไทยยังแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง และ Valuation ไม่แพง กลุ่มธนาคารซื้อขายที่ 0.65x PBV’25E หรือราว -1.0SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี และธนาคารส่วนใหญ่ยังคงซื้อขายที่ระดับ P/BV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี

ขณะที่บล.บัวหลวง ประเมินว่า Banking Sector คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นต่อไปตลอดปี 2568 ซึ่งมีการเปลี่ยนธีมในการเลือกหุ้นกลุ่มธนาคาร จากเดิมที่เราเลือกหุ้นที่มีความเสี่ยงของกำไรต่ำ ไปเป็นหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาค พร้อมทั้งมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง

โดยเรามองว่าแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์กำลังมีทิศทางดีขึ้น ขณะที่ การอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ในมุมมองเรา คิดว่ากลุ่มธนาคารที่มีพอร์ตลูกค้าองค์กร-หน่วยงานภาครัฐต่างๆ (BBL KBANK KTB) จะเห็นการฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มเน้นรายย่อยในช่วงในไตรมาส 4/67 และปี 2568

เรามีการปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2568 และเลือก BBL, KBANK และ KTB เป็น top picks ของกลุ่มโดยเรามองประเด็นบวกต่อกลุ่มธนาคาร 3 เรื่อง ได้แก่ 1) แนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์จะทยอยฟื้นตัวชัดกว่า 2) เราเห็น NPL เกิดใหม่ในหลายธนาคารปรับลดลงในไตรมาส 2/67 และ 3) ภาพรวมคุณภาพสินทรัพย์ของลูกหนี้ในกลุ่มรายใหญ่ฟื้นตัวได้ดีกว่าลูกค้ารายย่อย