ยกระดับไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ของบริษัทระดับโลก
ล่าสุด บีโอไอ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ซึ่งนอกจาก Google ที่ได้ประกาศแผนลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย
โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ประเมิน กระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ Cloud, AI และอนาคตในส่วนระบบ Automation แม้ไทยอาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศต้นน้ำที่ได้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาโดยตรง แต่กระแสหลักนี้ จะสร้างโอกาสให้ไทยช่วง 4-5 ปีนับจากนี้ ด้วยศักยภาพการเป็นศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านเทคโนโลยี
กล่าวคือ Data Center ในไทย มีจุดเด่นจากพื้นที่ตั้งเป็นศูนย์กลางภูมิภาค, ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ 4G 5G ที่ครอบคลุม ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติต่ำ และกระแสไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและมั่นคง ทำให้ไทยเป็นจุดสนใจ จากการขยาย Data Center จากสิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางเดิมที่เริ่มมีข้อจำกัด
โดยจากการรวบรวมตัวเลข ในส่วนเม็ดเงินลงทุน Data Center ที่มีโอกาสเกิดขี้นในประเทศหลักๆ ประเมินปัจจุบันมีเม็ดเงินมหาศาลรอลงทุน Data Center ในไทยช่วง 4-5 ปีจากนี้ ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงราว 1.1% ของมูลค่า GDP ประเทศไทยในปัจจุบัน โดยหากทยอยลงทุน 4-5 ปี เท่ากับผลบวกต่อ GDP ราว 0.2-0.25% ต่อปี ซึ่งยังไม่รวมการนำมาสู่ประโยชน์ด้านดิจิตอลต่างๆ อีกจำนวนมากต่อประเทศ ถือเป็นหนึ่งใน S Curve ใหม่ของไทย และ Upside ของเศรษฐกิจระยะกลาง-ยาวที่เชื่อว่าตลาดยังแทบไม่รวมในประมาณการ GDP
มุมมองเชิงกลยุทธ์ ประเมินว่า Upside จากแรงขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ มีจุดเด่นสำคัญ คือ ปริมาณข้อมูลที่ใช้สนับสนุนจะเติบโตแบบทวีคูณ (Exponential) ซึ่งน่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจสูงกว่าที่ตลาดคาดคิดไว้ และเป็น Thematic Theme ระยะกลาง-ยาว 1-5ปี
โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของ Data Center โดยฝั่ง Data Center แนะนำผู้ได้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานขยายตัวโดยตรง อาทิ GULF, INTUCH, ADVANC, TRUE, INSET, DELTA, STPI
กลุ่ม Digital Tech ที่ Data Center จะนำมาสู่ Upside งานประเภท Cloud Adoption และ AI รวมถึง Automation Adoption ระยะหนุนอุตสาหกรรมเข้าสู่รอบใหญ่ของการขยายตัวอีกครั้ง อาทิ BE8 BBIK
ส่วนกระแส Cycle เทคโนโลยี AI ที่ผลักดันอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ พัฒนาให้มี AI พื้นฐานติดเครื่องมากขึ้น จะสร้างโอกาส ฟื้นตัวจากรอบการเปลี่ยนอุปกรณ์ตามกระแส AI คาดไม่ต่างไปจากยุค 3G 4G หนุนหุ้นได้ประโยชน์ อาทิ HANA , ADVICE , SYNEX
ขณะที่โดยฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้จัดทำรายงานเรื่อง เส้นทางการเติบโตของ Data Center ในอาเซียน พร้อมกับวิเคราะห์โอกาสและการเติบโตของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่จะเติบโตไปพร้อมกับความต้องการ Data Center
โดยเชื่อว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียจะได้ประโยชน์มากสุดจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นใน Data Center เพราะมีความ ได้เปรียบด้านที่ตั้ง ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศนี้กลายเป็น gateway ในอุดมคติสำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าขณะนี้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีความจุ Data Center มากสุดในอาเซียน แต่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่และพลังงานไฟฟ้า ทำให้ผู้ให้บริการหันไปพิจารณาหาทำเลที่ตั้งในประเทศอื่น เช่นมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย, เวียดนามและฟิลิปปินส์
ขณะที่ DC Bytes ประมาณการว่าความจุ Data Center ในมาเลเซีย, ไทย และอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32-56% CAGR ในปี 66-71 สูงกว่าสิงคโปร์ที่ 8% CAGR
สำหรับประเทศไทยนั้น มองว่า ในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยยังถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีขนาดเล็กในอุตสาหกรรม Data Center เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ตามข้อมูลของ Cushman & Wakefield ประเทศไทยมี Data Center ทั้งหมด 59 แห่ง รวมความจุ 66MW ณ สิ้นไตรมาส 1/67 นอกจากนี้ไทยยังมี Data Center ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 80MW และอยู่ระหว่างการวางแผนอีก 246MW ขณะที่ DC Byte ประมาณการเชิงรุกว่า Data Center ในไทยอาจมีความจุเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 642MW ภายในปี 67
เชื่อว่าไทยมีความต้องการ Data Center ในประเทศสูง เนื่องจากประชากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จึงส่งผลให้ความต้องการอินเตอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้นตาม นอกจากนี้เชื่อว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนาต่อเนื่อง เช่น โครงข่ายพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และโครงข่ายโทรคมนาคมที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนด้าน Data Center ที่น่าสนใจ
ภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งเป้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ จากเดิมที่พึ่งพิงภาคการผลิตไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล BOI ได้เสนอสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรม Data Center ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายไฟฟ้าและการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่แข็งแกร่ง แต่ยังต้องปรับปรุงอีกหลายด้าน เพื่อให้กลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับ Data Center เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนากว่าไทยสำหรับการก่อสร้าง Data Center เช่น ไทยมีสถานีสายเคเบิ้ลใต้น้ำ (submarine cables) น้อยกว่ามาเลเซีย ทำให้ไทยสามารถรองรับปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศได้จำกัด จึงอาจไม่น่าสนใจสำหรับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่กำลังมองหาการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตประสิทธิภาพสูง