รายงานพิเศษ : ไทยขึ้นแท่น Digital Economy Hub ติดปีก I2 หนุนผลงานปีนี้โต 20%
เทคโนโลยีดิจิทัล หัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งการลงทุนของ Googleโดยการสร้าง Data Center และ Cloud Region ในไทย ส่งเสริมให้ไทยเป็น Digital Economy Hub และยังกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ในประเทศให้เติบโตแข็งแกร่ง
หลังการประกาศลงทุนในประเทศไทยของ Google โดยการสร้าง Data Center และ Cloud Region ในไทย โดยมีมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค
ซึ่งนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุ ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอรวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง
สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท
นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS
นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบ Smart City เป็นต้น
"Data Center และ Cloud Service ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และจะทำให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมีมากมาย โดยเฉพาะการสร้างงานทักษะสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม
อีกทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิต การเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมีทั้งความเร็วและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งยกระดับไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค" นายนฤตม์ กล่าว
ซึ่งการเป็น Digital Economy Hub ของไทย ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจในประเทศที่จะได้รับอานิสงส์จากการขยายการลงทุนของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ และสำหรับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ต้องนึกถึงบมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (I2) ที่ประกอบธุรกิจให้บริการ System Integration (SI) แบบครบวงจร ได้แก่ ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Infrastructure, Network, Transformation, อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณดาวเทียม และเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงาน
โดย “อธิพร ลิ่มเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร I2 มั่นใจแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 67 ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากการทยอยรับรู้รายได้จากการส่งมอบงานในมือ (Backlog) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1,800 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทยังคงเดินหน้าเข้าร่วมประมูลงานโครงการของภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนร่วมประมูลงานใหม่รวมมูลค่าประมาณ 6,455 ล้านบาท และมีงานที่รอเซ็นสัญญาอีกไม่ต่ำกว่า 20% ของมูลค่ารวมงานประมูล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในปี 67 มีรายได้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 20%