Smart Investment

สแกนหุ้น! รับอานิสงส์ Data Center 3 บิ๊กไอทีในสหรัฐ ปักหมุดลงทุนไทย


06 ตุลาคม 2567

Mr.Data

พลันที่ Google ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของสหรัฐอเมริกา ประกาศทุ่มเงินลงทุน Data Center ในประเทศไทย มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี 2568-2572  

Data Center เมกะเทรนด์โลก_S2T (เว็บ).jpg

ถือเป็นรายที่ 3 ต่อจาก Amazon Web Services (AWS) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน Cloud Computing ซึ่งมีแผนลงทุนสร้าง Data Center ในไทย มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท ภายในปี 2580  โดยปีที่ผ่านมา AWS นำเงินเข้ามาในไทยแล้วกว่า 1.16 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ Microsoft  ประกาศแผนลงทุน DATA Center ในไทยแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่เปิดเผยตัวเลขลงทุน อย่างไรก็ตาม มูลค่าลงทุนในประเทศอินโดนีเซียอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ และมาเลเซียอยู่ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 4 ปี ข้างหน้า 

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแล้วประเทศไทยมีอะไรดี ทำไมผู้ประกอบการไอทียักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาถึงได้เข้ามาลงทุน

สัปดาห์นี้ Mr.Data พามาหาคำตอบ กับ 4 จุดเด่นที่ทำให้ต่างชาติสนใจลงทุน

-ไทยตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เป็นจุดเชื่อมต่อที่สะดวกสำหรับการให้บริการ Data Center ในระดับภูมิภาค

-มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

-ไทยมีบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ3

-รัฐบาลไทยมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน

บล.กรุงศรี ประเมินว่า หลัง Google ประกาศลงทุนในไทย 3.6 หมื่นล้านบาท ถือเป็นยักษ์ใหญ่รายที่ 3 และคาดว่าระยะถัดไปจะมีความต่อเนื่องเม็ดเงิน เน้น WHA, GULF, GPSC, ADVANC, TRUE, BE8, BBIK

“Google ถือเป็นยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯรายที่ 3 ต่อจาก Amazon และ Microsoft ที่ประกาศลงทุนธุรกิจในไทย เม็ดเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ของ Google มีนัยฯ เราประเมินบ่งชี้ระดับการลงทุน Data Center 100 +/- MW และตามปกติเมื่อมีการลงทุนระยะแรกแล้ว มักจะเห็นความต่อเนื่อง”

การลงทุน Google เป็นส่วนหนึ่งหนุนกำลังให้บริการ Data Center ไทยใน 4-5 ปีข้างหน้า +44.5% ต่อปี สูงกว่าโลกที่ +8.0% ต่อปีมีนัยฯ

สัญญาณดังกล่าวบ่งชี้โอกาสที่ Infrastructure Technology จะเป็นหนึ่ง S Curve ที่มีโอกาสหนุนไทยระยะกลาง-ยาว มองหุ้นในธีม Infra Tech ระยะสั้นที่โดดเด่น คือ กลุ่มต้นน้ำ - กลางน้ำ 

กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้ประโยชน์จากการขายที่ดินเน้น WHA โรงไฟฟ้า ได้ประโยชน์จากการจ่ายไฟให้ Data Center และคาดเป็นธีมหลักหนุนเกิดภาพ Rerate Valuation ครั้งใหม่ เน้น GULF, GPSC

กลุ่มสื่อสาร เป็นผู้ที่มี Data Center มากเป็นลำดับต้นของประเทศอยู่แล้ว จะเป็นกลุ่มได้ประโยชน์จากการขยาย Data Center ย่อยของยักษ์ใหญ่ระดับโลกเป็น New S Curve เน้น ADVANC, TRUE

กลุ่ม Digital Tech Consult การลงทุน Data Center นำมาสู่งานประเภท Cloud Adoption ตามด้วย AI Adoption เน้น BE8, BBIK

ในเชิงกลยุทธ์ บล.กรุงศรี แนะนำลงทุนหุ้นในธีมดังกล่าวต่อเนื่อง ระยะสั้นวางกลยุทธ์เน้นกลุ่มได้ประโยชน์ต้นน้ำ-กลางน้ำเป็นหลัก เน้น  WHA, GULF, GPSC, ADVANC, TRUE, BE8, BBIK

บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า หุ้นโรงไฟฟ้าที่คาดได้ประโยชน์ คือ GULF เนื่องจากบริษัทได้มีการประกาศลงนามสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท กูเกิ้ล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด (GOOGLE) เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการระบบ GOOGLE DISTRIBUTED CLOUD AIRGAPPED (GDC AIR-GAPPED) ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ไร้ ซึ่งการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยสิ้นเชิง ซึ่งมีจุดเด่นด้านความเสถียรภาพ และมีความปลอดภัยสูง เหมาะแก่การใช้สำหรับองค์กรในประเทศไทย 

ทั้งนี้ GULF จะเป็นผู้ดำเนินงานในฐานะ MANAGED GDC PROVIDER ผ่านการให้คำปรึกษาและบริการจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการจัดการ ดูแลระบบอย่างครบวงจร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของ GULF ในการรองรับความต้องการพื้นที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยต่อยอดในธุรกิจไฟฟ้าของ GULF ได้ในอนาคต และหุ้นโรงไฟฟ้าอื่นๆ มีโอกาสเห็นการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่าง BGRIM, GPSC, WHAUP เป็นต้น

หุ้นกลุ่มนิคม AMATA และ WHA มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับ DATA CENTER โดยประเมินว่า WHA มีโอกาสได้คว้างานมากกว่า AMATA เนื่องจากฐานลูกค้าของ WHA เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม NEW ECONOMY ประกอบกับ WHA มีการพัฒนาบริษัทให้มีความเป็น TECH COMPANY

หุ้นกลุ่มสื่อสารขนาดใหญ่อย่าง ADVANC,TRUE ที่แม้ทาง GOOGLE จะมีการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เอง แต่ยังจำเป็นที่จะต้องมีการเชื่อมต่อกับลูกค้าเป้าหมายที่จะต้องอาศัยโครงข่ายพื้นฐาน เช่น เส้นใยแก้วนำแสง ซึ่งมีโอกาสที่ GOOGLE จะเลือกใช้บริการดังกล่าว จากกลุ่ม ADVANC หรือ TRUE

ส่วนหุ้นกลุ่มรับเหมาสื่อสารมีธุรกิจเกี่ยวกับ DATA CENTER และ CLOUD SERVICE ก็คาดได้ประโยชน์เช่นกัน อาทิ AIT, INSET, ITEL ฯลฯ

หากกล่าวถึง DATA CENTER ของคนไทยผู้มาก่อนกาล คงหนีไม่พ้น บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) (PROEN) ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 24 ปี 

โดยบริษัทฯ มีบริการดาต้าเซนเตอร์พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ณ อาคารโทรคมนาคม บางรัก รองรับการใช้ไฟฟ้ารวม 1.2 เมกะวัตต์ ให้บริการเต็มจำนวน 700 ตู้แร็ค ใช้ไฟฟ้าหล่อเลี้ยง 3.5 กิโลวัตต์ต่อตู้แร็ค ปัจจุบันขนาดการใช้กำลังไฟฟ้ากำลังปรับเปลี่ยนสูงขึ้นซึ่งลูกค้ารายใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาจะใช้กำลังไฟฟ้าหล่อเลี้ยง 7.5-16.0 กิโลวัตต์ต่อตู้แร็คทำให้ต้องขยายพื้นที่เพิ่ม

ล่าสุด ได้ประกาศเดินหน้าขยายการลงทุนไปแล้ว หลังจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากประเทศดูไบ โดย PROEN ขายศูนย์บริการข้อมูลโครงการ OTT DC ให้กับ บริษัท ซีชอร์ ดาต้า เซ็นเตอร์ แอนด์ คลาวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด มูลค่า มูลค่า 802 ล้านบาท และนำเงินส่วนหนึ่งจำนวน 246 ล้านบาท กลับเข้ามาถือหุ้น 30% ใน ซีชอร์ ดาต้า เซ็นเตอร์ฯ โดยซื้อจาก บริษัท แมกม่าโฮลดิ้ง จำกัด รองรับแผนรุกตลาดกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ 

ฉากหลังของ “แมกม่าโฮลดิ้ง” ถือว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากพบว่าเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ในดูไบ Mr.Hussain Ali Habib Sajwani มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง DAMAC Properties ที่ กำลังของมหาธุรกิจใหม่ ที่อยู่ในเมกะเทรนด์โลก และเป็น New S-Curve ซึ่งนาทีนี้ หนีไม่พ้นเรื่องของ ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่จะต่อสายตรงเข้ามาที่ PROEN รองรับดีมานด์ลูกค้าต่างประเทศ ที่มาด้วยความพร้อมของประสบการณ์ทีมงาน+แหล่งทุนใหม่จากเศรษฐีดูไบที่พร้อมเข้ามาซัพพอร์ต

Data-Center-เมกะเทรนด์โลก.jpg