Wealth Sharing

รับมือ! สงครามเดือด อาจทำให้ “ใช้น้ำมันราคาแพง”


07 ตุลาคม 2567

สถานการณ์ตะวันออกกลางที่ตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลอิสราเอลโจมตีคลังน้ำมันอิหร่าน โดยไบเดนให้สัมภาษณ์กับสื่อว่ากำลังหารือกับอิสราเอลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการโจมตี โครงสร้างพื้นฐานน้ำมันของอิหร่าน เป็นผลให้ราคาน้ำมัยปรับตัวเพิ่มขึ้นทันที

รับมือ! สงครามเดือด อาจทำให้ “ใช้น้ำมันราค.jpg

ความเห็นของนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า  วิกฤตการณ์ตะวันออกกลาง ผลการศึกษาจากทีมเศรษฐกิจ ของ Bloomberg ระบุว่า หากเกิดสงครามระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบ (Full-Scale Regional War) จะทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ทั้งนี้มีความเสี่ยงต่อแหล่งผลิตน้ำมันและการขนส่ง มีผลกระทบต่อ GDP ของโลกราว 0.5% และของสหรัฐฯ ราว 0.2% ขณะที่เงินเฟ้อของโลก จะสูงขึ้น 0.6% และมีผลต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ราว 0.7%

ขณะที่ นักวิเคราะห์ของธนาคาร SEB (ธนาคารสัญชาติสวีเดน) ประเมินว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งแตะระดับ 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากอิสราเอลตอบโต้อิหร่านด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของน้ำมันในประเทศ และทำให้มีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ 

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น เชื่อว่ามีโอกาสที่สงครามจะบานปลายมากขึ้น (โดยอาจรวมถึงประเทศตะวันออกกลางอื่นๆและ US) 

หากเกิดขึ้นจริง มองถึงความเป็นไปได้ที่จะอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมันโลกและอาจรวมถึงราคาพลังงานต้นน้ำ ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้ที่ 81 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าข่าวนี้จะส่งผลกระทบจำกัดต่อการค้าระหว่างประเทศเนื่องจาก Strait of Hormuz เป็นเส้นทางการค้าของประเทศตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่

มองเป็นบวกต่อกลุ่มพลังงาน ราคาพลังงานต้นน้ำอาจจะสูงขึ้น จะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน (โดยเฉพาะพลังงานต้นน้ำและโรงกลั่น)

กลุ่มพลังงานต้นน้ำและโรงกลั่น PTTEP จะได้ประโยชน์จากราคาขายน้ำมันเฉลี่ย (liquid ASP) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ โรงกลั่นน่าจะได้แรงหนุนจากกำไรจากสต๊อก (stock gain) ที่สูงขึ้นและอาจรวมถึงส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และราคาน้ำมันดิบ (crack spread) ที่ดีขึ้น (ขึ้นอยู่ผลกระทบต่ออุปทานของแต่ละผลิตภัณฑ์) 

สำหรับ BANPU (ถือ/เป้า 4.50 บาท) มองว่าจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวขึ้น (เนื่องจากเป็นสินค้าทดแทนของน้ำมันดิบบางส่วน) 

โดยคำแนะนำ สำหรับหุ้นที่ดูแล คือ PTTEP (ซื้อ/เป้า 180.00 บาท), TOP (ซื้อ/เป้า 65.00 บาท), SPRC (ซื้อ/เป้า 9.00 บาท), และ BCP (ซื้อ/เป้า 45.00 บาท)

หุ้นที่รับผลกระทบ

กลุ่มโรงไฟฟ้า มีโอกาสที่ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น (โดยมี lag time ราว 3-6 เดือนหลังราคาน้ำมันขึ้น) แต่ค่า Ft ไม่สามารถปรับสะท้อนได้จากค่าไฟปัจจุบันอยู่ในระดับสูงและภาครัฐฯต้องการลดภาระประชาชน เป็น negative sentiment ต่อโรงไฟฟ้า SPP โดยเรียงลำดับจากหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมากไปน้อยคือ BGRIM (ซื้อ/เป้า 35.00 บาท), GPSC (ซื้อ/เป้า 60.00 บาท), GULF (ซื้อ/เป้า 60.00 บาท)

ส่วนกลุ่มปิโตรเคมี มองว่าหุ้นในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ (feedstock) ที่สูงขึ้น ในขณะที่ ราคาขายยังมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มอุปสงค์ที่อ่อนแออยู่ ทั้งนี้ คำแนะนำ สำหรับหุ้นที่เราดูแล คือ PTTGC (ถือ/เป้า 27.00 บาท), IVL (ซื้อ/เป้า 21.00 บาท), และ SCC (ถือ/เป้า 250.00 บาท)

ด้านกลุ่มท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจาก Middle East มีโอกาสลดลงได้ โดย 8 เดือนของปี 67 มีสัดส่วนที่ 2.2% ของนักท่องเที่ยวรวม หุ้นที่ได้รับ negative sentiment คือ (ERW (ถือ/เป้า 4.20 บาท), CENTEL (ถือ/เป้า 36.00 บาท)

กลุ่มสายการบิน มองว่าหุ้นกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจคิดเป็นประมาณ 30%-40% จากรายได้รวม หุ้นที่ได้รับ negative sentiment คือ AAV (ซื้อ/เป้า 3.20), BA (เป้า Bloomberg consensus 26.14 บาท)

กลุ่มค้าปลีกน้ำมัน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นมีโอกาสกดดันค่าการตลาด โดยปัจจุบันภาครัฐตรึงเพดานดีเซลไว้ที่ 33.00 บาท จนถึงเดือน ต.ค. 2024 หุ้นที่ได้รับ negative sentiment คือ PTG (ถือ/เป้า 10.00 บาท), OR (ซื้อ/เป้า 19.00 บาท)

กลุ่มส่งออก: ค่าขนส่งที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการหาพื้นที่เรือและการเลื่อนคำสั่งซื้อ ขณะที่คาด AAI มีโอกาสได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ไป Middle East ราว 7% ของรายได้รวม หุ้นที่ได้รับ negative sentiment คือ AAI (ซื้อ/เป้า 8.20 บาท), GFPT (ซื้อ/เป้า 16.00 บาท), ITC (ซื้อ/เป้า 30.00 บาท), TU (ซื้อ/เป้า 18.50 บาท)

กลุ่มโรงพยาบาล คาดได้รับผลกระทบจากจำนวนคนไข้ Middle East ที่ปรับตัวลดลง โดยหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากมากไปน้อยเรียงลำดับตามสัดส่วนรายได้ Middle East ได้แก่ BH (เป้า Bloomberg consensus 294.00 บาท), BDMS (เป้า Bloomberg consensus 34.80 บาท), BCH (เป้า Bloomberg consensus 20.85 บาท)

อิหร่านเป็นผู้ผลิต น้ำมันรายใหญ่อันดับ 3-4 ของ OPEC

ส่วนความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า หากอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานพลังงานของอิหร่านเกิดขึ้นจริงอาจกระทบต่ออุปทานน้ำมันโลก เพราะอิหร่านเป็นผู้ผลิต น้ำมันรายใหญ่อันดับ 3-4 ของ OPEC ปัจจุบันผลิตน้ำมัน 3-4 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งออกน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน คิดเป็นราว 12% ของโลก

โดยล่าสุดมีรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐกำลังหารือกับอิสราเอลเกี่ยวกับการโจมตีคลังน้ำมันของอิหร่าน จึงประเมินเป็นปัจจัยเซนติเมนท์บวกเชิงต่อกลุ่มพลังงานต้นน้ำ เช่น PTTEP, BANPU, BCP,BSRC, TOP และ SPRC

ด้านความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า หากสถานการณ์ทวีรุนแรง เสี่ยงกระทบ SUPPLY การผลิตน้ำมันปรับตัวลดลง ไปจนถึงการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งจะทำให้ค่าพรีเมียมความเสี่ยงถูกเพิ่มลงไปในราคาน้ำมัน

ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ กรอบเป้าหมายช้าลง

ผลพวงที่ตามมา หากราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น คือ “ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ กรอบเป้าหมายช้าลง” ซึ่งอาจทำให้ FED ปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ได้ โดยหลังจากการประชุม FED เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา FED WATCH TOOL ประเมินว่า FED จะลดดอกเบี้ย 0.5% ในครั้งถัดไป ด้วยความน่าจะเป็น 55% แต่ล่าสุดคาด FED จะลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% ด้วยความน่าจะเป็น 69% ในการประชุมรอบเดือน พ.ย. นี้

ทั้งปัจจัยความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ บวกกับ FED อาจไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยลงเร็ว จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ล้วนหนุนให้ DOLLAR พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ทำให้ในเชิง เปรียบเทียบเงินบาทอ่อนค่าขึ้นมายืนเหนือ 33 บาท/เหรียญฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ FUND FLOW ชะลอการไหลเข้าบ้านเราได้ในช่วงสั้นๆ

สรุป ความตึงเครียดตะวันออกกลางต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และระมัดระวัง เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในช่วงวันหยุด หากเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น เสี่ยงทำให้ ราคาน้ำมันดีดตัว ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมายช้า ซึ่งอาจจะ ส่งผลให้ FED ปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาดคาดได้ หนุน DOLLAR แข็งค่า ส่วนเงิน บาทมีโอกาสอ่อนค่าลงเชิงเปรียบเทียบ  

รับมือ!-สงครามเดือด-อาจทำให้-“ใช้น้ำมันราค.jpg