รายงานพิเศษ : SUPER ลุยประมูลโครงการรับซื้อไฟ เทคฯ "ท่าตะโก โซลาร์" เพิ่มโอกาสได้งาน
บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) พร้อมเข้าร่วมประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หลังเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท ท่าตะโก โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (TKSE) หวังสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน
ในที่สุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุสำนักงาน กกพ. กำหนดกรอบระยะเวลาและกระบวนการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้ประกาศ กกพ. เรื่อง รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) ดังนี้
1. การไฟฟ้าออกประกาศกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน สถานที่ ระยะเวลา รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อไฟฟ้า วันที่ 8 ตุลาคม 2567
2. ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมยื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือกโครงการ จำนวน 2 ชุด (ต้นฉบับ 1 ชุด และสำเนา 1 ชุด) พร้อมวางหลักประกันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า (Proposal Bond) กำหนดกรอบระยะเวลา 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 1 ในเวลาทำการไม่เกิน 16.00 น.
3. การไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ กำหนดกรอบระยะเวลา 7 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 2
4. สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก ภายใน 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 3
5. การไฟฟ้าแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม ที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 14 วัน นับถัดจากวันที่สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อ ตามกระบวนการที่ 4
6. ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามกำหนดวัน SCOD ที่ได้รับการคัดเลือก ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ครบกำหนด กระบวนการที่ 5 (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2569) หรือภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ครบกำหนดกระบวนการที่ 5 (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2570 - 2573)
ภายใต้ประกาศดังกล่าว กกพ.กำหนดเงื่อนไขโดยจะให้สิทธิกับกลุ่มผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินนรอบแรก จำนวน 198 ราย ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว
สำหรับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,180 เมกะวัตต์ จัดแบ่งสัดส่วนและลำดับการพิจารณาแต่ละประเภทโดยจะพิจารณาโครงการจากพลังงานลม ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก ตามด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ เป็นลำดับที่สอง
ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเข้าร่วมประมูลของ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด (SPP6) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUPER เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ท่าตะโก โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (TKSE) จากผู้ถือเดิมจำนวนรวม 2,480,000 หุ้น คิดเป็น 100% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ TKSE มูลค่าไม่เกิน 6,275,000 บาท เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเข้าประมูลงานในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม และเป็นการเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้ที่คุ้มค่าให้แก่บริษัทในอนาคต
TKSE จัดตั้งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 มีทุนจดทะเบียน 24,800,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,480,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 6,275,000 บาท เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นขอผลิตไฟฟ้าในโครงการของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565
นอกจากนี้ SUPER ยังจะจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ 2 บริษัท เพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคต คือ 1.บริษัท เพชรบุรีกรีน โฮลดิ้ง จำกัด (PETH) เพื่อลงทุนในธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานขยะ (Holding Company) ทุนจดทะเบียน 220.50 ล้านบาท มีบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยถือหุ้นทั้ง 100%
และ 2. บริษัท ชะอำ กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด (CHAG) ประเภทธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานขยะ ทุนจดทะเบียน ประมาณ 450,000,000 บาท โครงสร้างผู้ถือหุ้น ถือ 51% โดย SUPER และ ถือ 49% โดย บริษัท เพชรบุรี กรีน โฮลดิ้ง จำกัด