KKP นำทีมจิตอาสา 170 คน ปลูกป่า "เขาตะแบก" ชูแนวคิด “ปลูก-ดูแล-ติดตาม” สร้างสมดุลให้ธรรมชาติ ดูแลป่าอย่างยั่งยืน
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จัดกิจกรรม "KKP VolunTeam – อาสารักษ์สิ่งแวดล้อม" นำทีมจิตอาสาจำนวน 170 คน เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่า ภายใต้แนวคิด "ปลูก - ดูแล - ติดตาม" ซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าในระยะยาว กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่ป่าชุมชนบ้านเขาตะแบก จังหวัดชลบุรี ด้วยความร่วมมือของภาคีหลายฝ่าย ได้แก่ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 (ชลบุรี) คณะกรรมการป่าชุมชน และชุมชนบ้านเขาตะแบก เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567
แนวคิด “ปลูก - ดูแล - ติดตาม” เป็นกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่มุ่งเน้นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การปลูกต้นไม้ แต่ให้ความใส่ใจตั้งแต่การเลือกปลูกต้นไม้พันธุ์ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของชุมชน เช่น ต้นพยุงและต้นตะแบก รวมถึงการดูแลและติดตามการเติบโตของต้นไม้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นพัฒนาการและการฟื้นฟูของป่าในระยะยาว ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของกิจกรรม
นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กล่าวว่า “KKP ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ภายใต้เจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย นอกจากการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว เรายังมุ่งมั่นที่จะบรรเทาผลกระทบเชิงลบให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในงานสำคัญด้านความยั่งยืนของ KKP ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยมุ่งส่งเสริมให้คน ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
ยิ่งไปกว่านั้น การมีส่วนร่วมของพนักงานเป็นสิ่งที่ KKP สนับสนุน เราเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะพนักงานที่มีจิตอาสา ได้มีส่วนร่วมกับองค์กรในการทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง”
สำหรับกิจกรรม KKP VolunTeam – อาสารักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ชุมชนบ้านเขาตะแบก จิตอาสาของ KKP ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้พันธุ์ท้องถิ่นจำนวน 350 ต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซต์ของต้นไม้ในป่าชุมชนบ้านเขาตะแบก ได้ 3.32 tCO2eq ยังมีการสร้างโรงเรือนเพาะชำจำนวน 2 หลัง เพื่อใช้ในการอนุบาลกล้าไม้ รวมถึงการเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่นจำนวน 1,200 ต้น เพื่อปลูกเสริมในอนาคตและนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้น ได้แก่ การสำรวจและทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเป็นฐานเรียนรู้สำหรับชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่ การสำรวจชนิดพันธุ์พืชและการเก็บเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อนำมาเพาะชำต่อไป ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่นให้ยังคงอยู่ในป่าอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ หลังจบกิจกรรมยังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับชุมชนและผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเหมือนกลไกชุมชน ในการดูแลและติดตามการเติบโตของต้นไม้ รวมถึงวางแผนการบริหารจัดการป่าชุมชนในระยะยาว
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ KKP มุ่งเน้นส่งเสริมความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการลดผลกระทบจากการทำกิจกรรมให้ส่งผลต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด เช่น การรณรงค์ให้พนักงานเดินทางโดยรถคันเดียวกัน ลดปริมาณขยะผ่านการใช้อุปกรณ์แบบใช้ซ้ำ แยกขยะมูลฝอยจากต้นทางเพื่อการจัดการขยะปลายทางอย่างถูกวิธีและให้เกิดประโยชน์ต่อไป