‘สมาคมนักวางแผนการเงินไทย’ ชี้ ‘ค่าครองชีพพุ่งสูง’ ปัญหาทางการเงินอันดับต้น ๆ และกลุ่ม ‘แซนด์วิช เจเนอเรชัน’
“สมาคมนักวางแผนการเงินไทย” สะท้อนมุมมองการรับมือค่าครองชีพสูง และภาระของ ‘แซนด์วิช เจเนอเรชัน’ หรือ ‘เดอะ แบก’ ผ่านการวางแผนการเงิน ประเทศไทยมีครัวเรือนลักษณะ Sandwich ที่มีสมาชิก 3 รุ่นขึ้นไปถึง 3.4 ล้านครัวเรือน เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงิน ต้องเร่งเพิ่มทักษะความรู้การวางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงทางการเงินรองรับหลังการเกษียณ ขานรับ “วันวางแผนการเงินโลกประจำปี 2567” (World Financial Planning Day 2024) 9 ตุลาคมนี้ ร่วมกับเครือข่าย 26 ประเทศทั่วโลก จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน และประโยชน์ของคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงิน CFP®
นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association – TFPA) เปิดเผยว่า ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ถือเป็นปัญหาทางการเงินอันดับต้น ๆ ของผู้คนทั่วโลก จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 22,372 บาทในปี 2565 เป็น 23,695 บาทในปี 2566 โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ 81.6% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคถึง 87.1% อีกทั้งผลการนำเสนอเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังชี้ว่า ครัวเรือนไทยที่มีลักษณะ Sandwich Generation หรือครัวเรือน 3 รุ่น ซึ่งเป็นวัยแรงงานที่ต้องรับภาระดูแลคนหลายรุ่น ทั้งพ่อแม่และบุตรหรือหลาน มีจำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน หรือ 14% ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 แต่คนที่เป็น Sandwich Generation มีความเปราะบางทางการเงิน โดย 49.1% ของครัวเรือน Sandwich มีรายได้สุทธิคงเหลือน้อยกว่า 10% และ 69.8% ยังมีภาระหนี้สิน อีกทั้ง ภาระหนี้สินต่อรายได้ต่อเดือนยังสูงกว่าภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศ ส่งผลต่อความสามารถทางการเงินในระยะยาว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะความรู้เรื่องการวางแผนทางการเงิน ปลูกฝังพฤติกรรมการออมตั้งแต่อายุยังน้อย เริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวรองรับชีวิตหลังเกษียณ
นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวต่อว่า ในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 นี้เป็น “วันวางแผนการเงินโลก ประจำปี 2567” (World Financial Planning Day 2024) โดย Financial Planning Standards Board Ltd. (FPSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานด้านการวางแผนการเงิน ได้กำหนดให้มีวันวางแผนการเงินโลกขึ้นครั้งแรกในปี 2560 เพื่อส่งเสริมการรณรงค์ระดับโลกให้ประชาชนรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินและประโยชน์ของการรับคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงิน CFP ที่มีความรู้ความสามารถ และมีจรรยาบรรณ คำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นอันดับแรก ช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินและมีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ในโอกาสนี้ สมาคมนักวางแผนการเงินไทยร่วมกับ FPSB และเครือข่ายสมาชิกทั่วโลก 26 ประเทศ จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้เรื่องการวางแผนการเงินที่หลากหลาย เพื่อสร้างความตระหนักถึงประโยชน์ที่สำคัญของการวางแผนการเงิน สมาคมฯ ได้เผยแพร่สื่อให้ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของบทความและคลิปวิดีโอโดยนักวางแผนการเงิน CFP ทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของสมาคมฯ เช่น เว็บไซต์ (www.tfpa.or.th) Facebook, YouTube และ LINE official (@cfpthailand) เป็นต้น
นอกจากนี้ สมาคมฯ มีกำหนดจะจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้เรื่องการวางแผนการเงินต่อเนื่องในเดือนตุลาคมนี้ ได้แก่ กิจกรรม Financial Planning Clinic บริการให้คำปรึกษาวางแผนการเงินผ่านระบบออนไลน์กับนักวางแผนการเงิน CFP แบบรายบุคคลในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2567 โดยผู้สนใจร่วมบริจาคเงิน 500 บาทแก่สภากาชาดไทย ซึ่งเงินบริจาคสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่อรับสิทธิ์รับคำปรึกษา ระยะเวลา 1 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 รอบ ได้แก่ เวลา 9.00-10.00 น. เวลา 10.15-11.15 น. และเวลา 11.30-12.30 น. สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – 11 ตุลาคม 2567 หรือจนกว่าสิทธิ์จะเต็ม โดยแนบสลิปเงินบริจาคและเลือกรอบเวลา พร้อมกรอกข้อมูลผ่านแบบฟอร์มที่ https://www.surveymonkey.com/r/9MHV5NS หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.tfpa.or.th หรือ Facebook สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และกิจกรรม “Happy Salaryman มนุษย์เงินเดือน มนุษย์เงินดี มีสุข” ส่งเสริมให้พนักงานประจำมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน มีทักษะการบริหารจัดการเรื่องการเงินได้อย่างเหมาะสม และลงมือปฏิบัติวางแผนการเงินอย่างจริงจังเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ
“การวางแผนการเงินคือสิ่งสำคัญที่จะพาไปถึงเป้าหมายได้ ช่วยให้สามารถกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการตัดสินใจต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการเงินได้ชัดเจนและครบถ้วนภายใต้ข้อจำกัด เงื่อนไข หรือ ความเสี่ยงต่าง ๆ และยังช่วยให้รู้ถึงผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่อาจส่งผลต่อเป้าหมายชีวิต จึงทำให้สามารถปรับเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ส่วนตัวที่เปลี่ยนแปลงไป และช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตตามที่ต้องการได้ โดยมีนักวางแผนการเงิน CFP เป็นเพื่อนคู่คิดเรื่องวางแผนการเงิน ซึ่งมีข้อมูลสนับสนุนจากผลการวิจัยของ FPSB เรื่องคุณค่าของการวางแผนการเงิน ซึ่งจัดทำในปี 2566 ที่สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคทั้งที่ใช้บริการและไม่ได้ใช้บริการจากนักวางแผนการเงินกว่า 15,000 คน ใน 15 ประเทศ พบว่าผู้ที่ใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน CFP มีความเชื่อมั่นในเรื่องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้นต่อความมั่นคงทางการเงิน และมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ และรู้สึกพึงพอใจต่อสถานะทางการเงินของตนเองมากขึ้น รวมถึงรู้สึกสบายใจต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเงินส่วนบุคคล และความมั่งคั่งโดยรวม นอกจากนั้น ยังเห็นว่าคำแนะนำทางการเงินไม่เพียงแต่ช่วยเรื่องเงินเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาสุขภาพจิตโดยรวมอีกด้วย สำหรับที่ผู้สนใจรับคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงิน CFP สามารถดูข้อมูลได้จากเว็บไซต์สมาคมฯ ที่ https://tfpa.or.th/ListMember/CFP” นายวิโรจน์กล่าว