จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TFG แตกไลน์บุกตลาดสัตว์เลี้ยง หนุนรายได้เติบโตยั่งยืน


10 ตุลาคม 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศปี 67 โต 15.8% จากปีก่อนตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น หนุนการขยายธุรกิจบุกตลาดสัตว์เลี้ยงเปิดตัว “Buddy Club Pet Shop"  ของ บมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) 

รายงานพิเศษ TFG copy.jpg

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ครบวงจร อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก ที่มีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตร และอาหารทะเลแปรรูปที่มีอยู่ในประเทศ เช่น แป้ง ธัญพืช เศษอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ โดยสัดส่วนตลาดในประเทศคิดเป็น 33% ของมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมดของไทย และอีก 67% เป็นมูลค่าตลาดส่งออก

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศปี 67 โต 15.8% จากปีก่อน ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากมีจำนวนสัตว์เลี้ยงมากที่สุดและผู้เลี้ยงมีกำลังซื้อ 

ส่วนมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 67 คาดโต 19.5% จากปีก่อนที่หดตัว 15.0% จากความต้องการของคู่ค้าหลักที่ทยอยฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ อาทิ สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 50% รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดรองที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะอังกฤษและนิวซีแลนด์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดในปี 67 ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 3.75 แสนตัน ขยายตัว 5.9% จากปีก่อน ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 67 คาดว่า สัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของมีอยู่ราว 5.7 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 22% แบ่งเป็นสุนัข 3.7 ล้านตัว และแมว 2 ล้านตัว ส่งผลให้ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่กว่า 76% จะอยู่ในกลุ่มอาหารสุนัข จากจำนวนสุนัขที่มีมากกว่า 

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า คาดว่า สัดส่วนยอดขายอาหารแมวน่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมเลี้ยงแมวที่มีมากขึ้น สะท้อนได้จากในช่วงปี 65-67 อัตราการเติบโตเฉลี่ยของจำนวนแมวที่เลี้ยงเพิ่มขึ้น 22% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของสุนัขที่ 15% ต่อปี 

สำหรับพื้นที่ศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงอยู่ราว 3.1 แสนตัว คิดเป็น 5% ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด อีกทั้งคนในพื้นที่ดังกล่าวมีรายได้เฉลี่ยที่ 35,901 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศที่ 29,030 บาท/เดือน จึงเป็นพื้นที่ศักยภาพในการขยายตลาด เนื่องจากมีกำลังซื้อที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น

ดังนั้น จากยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงและจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น คาดว่า มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศจะอยู่ที่ 41,700 ล้านบาท ในปี 67 ขยายตัว 15.8% จากปีก่อน ขณะที่กำไรของธุรกิจคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้น สอดคล้องไปกับยอดขายที่โตและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับลดลง โดยเฉพาะปลาทูน่าที่ปัจจุบันราคาลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการแข่งขันของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศ ในปี 66 ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีอยู่ราว 296 ราย ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 67 มีจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 29 ราย สะท้อนว่า มีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังมีผู้ประกอบการนอกธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที ฯลฯ ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันกับอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าที่เข้ามาในไทยมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของมูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 62-66 อยู่ที่ 6.3% ต่อปี โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นอันดับ 1 และมีสัดส่วนราว 40% 

ตลาดที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 15%  สนับสนุนการเข้ามาทำตลาดของ บมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG)ที่ได้เปิด  “Buddy Club Pet Shop" สาขาแรกที่ถนนเพิ่มสิน ซึ่งเป็นศูนย์รวมสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงทุกประเภท  ตั้งแต่สุนัข แมว นก ปลาและสัตว์เลี้ยง Exotic โดยมีบริการอาบน้ำตัดขนสำหรับสุนัขและแมว และจำหน่ายอาหารสัตว์ ของเล่น อุปกรณ์เสริมที่ได้รับการคัดสรรจากแบรนด์ชั้นนำ มีความหลากหลายให้ลูกค้า เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ

ซึ่งการแตกไลน์ธุรกิจไปยังตลาดสัตว์เลี้ยง  จะส่งผลดีต่อบริษัทในการกระจายแหล่งสร้างรายได้ให้บริษัท ทำให้รายได้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง 

TFG