ยังเกาะติดสถานการณ์บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG บริษัทสุดที่รักของหมอ บุญ วนาสิน เพราะล่าสุดราคาหุ้น THG นับจากต้นปีถึงปัจจุบัน (วันที่ 9 ตุลาคม 2567) ปรับตัวลดลงมากกว่า 60%
เกิดอะไรขึ้นกับ THG ดูเหมือนเรื่องราวอื้อฉาวจะวนมาสู่บริษัท เพราะล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบข้อมูลการทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่ง THG ถือหุ้น 83.03% และ บริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่ง THG ถือหุ้น 51.22%
การทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อยดังกล่าวประกอบด้วย ประกอบด้วย
1. THB และ THH ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มครอบครัววนาสินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในเดือนธันวาคมปี 65-ปี 66 จำนวน 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 145 ล้านบาท
2.THB ให้กู้แก่ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมี RTD เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในปี 66 จำนวน 1 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 10 ล้านบาท
และ 3.THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 66 จำนวน 2 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 55 ล้านบาท
กลุ่มครอบครัววนาสิน เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ THG สัดส่วน 21.51% รวมทั้งกลุ่มครอบครัววนาสินถือหุ้น 40.80% ใน RTD อีกทั้งกลุ่มครอบครัววนาสิน และ RTD ยังถือหุ้น 36.1% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัดอีกด้วย
ณ ปัจจุบัน ยอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่นับรวมดอกเบี้ย) บริษัทคาดว่าหากมีผลกระทบจะสามารถเปิดเผยในงบการเงินรวมของไตรมาส 3/67 ที่กำลังจะจัดทำและเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป
สรุปง่ายๆ คือ รายการต้องสงสัยดังกล่าว คือ บริษัทย่อย THG ปล่อยกู้ให้บริษัทในกลุ่มครอบครัววนาสิน อีกทั้งยังมีคำสั่งซื้อทิพย์จากบริษัทในสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เริ่มดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ที่ตรวจพบเพื่อรักษามาตรฐานในการบริหารจัดการ ดังนี้
1. โยกย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยให้ออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องทันที
2. สอบสวนข้อเท็จจริง และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทฯและผู้ถือหุ้น
3. เน้นย้ำและกำชับให้บุคคลากรของบริษัทและบริษัทย่อย ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมาย อย่างเด็ดขาด
4. อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และความเสี่ยงโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจ และความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจจ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกตามความเหมาะสมเพื่อให้ความช่วยเหลือในการวางแผนแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติม
ภรรยาหมอบุญลาออก
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 THG รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติแต่งตั้งนายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัทแทนนางจารุวรรณ วนาสิน โดยนางจารุวรรณ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
เนื่องจากนางจารุวรรณ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท เพื่อให้คณะกรรมการของบริษัทฯ สามารถกำหนดทิศทางและแสวงหาแนวทางในการแก้ไขเหตุการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตามรายงานของบริษัทฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567
และล่าสุดมีกระแสข่าวลือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แต่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เวลา 12:30 น. บริษัทรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไม่มีการอนุมัติเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารตามที่ปรากฏในสื่อ ก่อนที่จะมีการปรับแก้ไขในเวลา 18:30 น. ว่า ยังไม่มีการอนุมัติเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารตามที่ปรากฎในสื่อ สรุปแล้ว ไม่มี หรือ ยังไม่มี?
นักวิเคราะห์แนะนำ “ขาย”
นักลงทุนยังคงต้องเกาะติดประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร แต่ที่แน่ๆ จากประเด็นนี้ทำให้นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) แนะนำ ขาย และปรับราคาเป้าหมายมาอยู่ที่ 22 บาท เนื่องจากมีมุมมองลบต่อผลการดำเนินงานในปีนี้ที่จะแย่กว่ากลุ่มฯจากผลกระทบการปรับโครงสร้างของ 2 ธุรกิจเพื่อลดผลขาดทุน
และผลการดำเนินงานไตรมาส 3/67 มีโอกาสขาดทุน หากต้องตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญจากปัญหาภายในบริษัท และปัญหาด้านการควบคุมภายในบริษัท มองเป็นความเสี่ยงต่ออันดับเครดิตองค์กร ซึ่งอาจกระทบต้นทุนเงินทุนในอนาคต
เช่นเดียวกันนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า หลังจากการเปิดเผยข่าว ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการผิดนัดชำระหนี้คงค้าง รวมถึงความเสี่ยงของการทุจริตเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ซื้อมา ฝ่ายวิจัยจึงตัดจำหน่ายเงิน 105 ล้านบาท ออกจากกำไรที่คาดการณ์ในปี 2567 ผ่านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสำหรับปี 2567-69 ขึ้น 2-4% เพื่อรวมต้นทุนที่สูงขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงระบบภายในเพื่อความโปร่งใส จากการปรับต้นทุนดังกล่าว EBITDA สำหรับปี 2567-69 ลดลง 8%, 4% และ 4% ตามลำดับ ปรับลดคำแนะนำจาก "ถือ" เป็น "ขาย" พร้อมจับตาความเสี่ยงในอนาคต และลดมูลค่าที่เหมาะสมจาก 28.00 บาท เป็น 21.60 บาท
ย้อนอดีตปั่นวัคซีนทิพย์
หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งการระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก หมอ บุญ วนาสิน คือบุคคลที่ออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับประเด็นวัคซีน จนนำไปสู่ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้บริหาร THG กรณีเผยแพร่ข้อความที่อาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและราคา THG
วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายแพทย์บุญซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจของ THG ได้บอกกล่าวหรือเผยแพร่ข้อความต่อสื่อหลายแห่ง ทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ที่ประชาชนสามารถรับข่าวสารได้ในวงกว้างว่า THG จะลงนามในสัญญาซื้อขายเพื่อนำเข้าวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ชนิด mRNA ยี่ห้อ Pfizer และจะรับมอบวัคซีนดังกล่าวจำนวน 5 ล้านโดสแรกภายในเดือนกรกฎาคม 2564
แต่ไม่ปรากฏว่า THG ได้มีการลงนามในสัญญานำเข้าวัคซีนภายในเดือนดังกล่าวจริง และช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 นายแพทย์บุญยังคงยืนยันการนำเข้าวัคซีนดังกล่าวได้ภายในเดือนสิงหาคม 2564 แต่ต่อมานายแพทย์บุญได้ยอมรับผ่านทางสื่อว่า ไม่สามารถนำเข้าวัคซีนดังกล่าวตามที่เคยให้ข่าวไว้ได้แล้ว
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายแพทย์บุญโดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ คือ 2,000,000 บาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 2,348,834 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 42 เดือน