จิปาถะ

DSI เปิด 25 กลโกงแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ รวมมุกเด็ดให้ประชาชนรู้เท่าทันโจร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ


11 ตุลาคม 2567
เช็กลิสต์ 25 กลโกงแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ DSI รวมมุกเด็ดให้ประชาชนรู้เท่าทันโจร ไม่ตกเป็นเหยื่อ

DSI copy.jpg

วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกระแสกลโกงการเงินในรูปแบบขายตรง-แชร์ลูกโซ่ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ตั้งแต่ในยุคแชร์แม่ชม้อย แชร์แม่มณี จนถึงการหลอกลงทุน FOREX-3D และล่าสุดที่เป็นกระแสอยู่กับกรณีของ ดิ ไอคอน

ขอนำเสนอข้อมูล “ถอดรหัส 25 กลโกงแชร์ลูกโซ่” ของกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) การป้องกันภัยแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ ภายใต้โครงการวิจัย DSI นวัตกรรมการป้องกันแชร์ลูกโซ่ออนไลน์

เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบถึงพฤติกรรมการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพแชร์ลูกโซ่แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันโจร รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวประชาชน ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่

กลโกงที่ 1 หลอกให้เกิดความอยากได้ โดยการใช้ผลตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ/ล่อใจ ว่ามีการให้ผลตอบแทน กำไร การปันผล ในจำนวนเงินที่สูงเกินความเป็นจริง

กลโกงที่ 2 เชิญชวนโดยทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตนี้โคตรโชคดีเหลือเกินที่ได้มาพบเจอบริษัทหรือกิจการนั้น ๆ

กลโกงที่ 3 ใช้วิธีโชว์สร้างภาพความรวย โชว์การใช้ชีวิตหรูหรา (กินหรูอยู่สบาย) ใช้รถหรูบ้านหรู โชว์เงินสดจำนวนมากเป็นปึก ๆ

กลโกงที่ 4 สร้างภาพให้เห็นว่า บริษัทหรือกิจการนั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือ เป็นอย่างมาก ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในเวลาอันรวดเร็ว แบบก้าวกระโดดหรือแบบฉับพลัน

กลโกงที่ 5 ทำให้เรารู้สึก/เข้าใจว่า เป็นการลงทุนกับบริษัทหรือกิจการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อายุน้อยพันล้าน เป็นต้น

กลโกงที่ 6 มีการเชิญชวนให้เข้าร่วมงานสัมมนา เขาจะแสดงว่ามีแผนธุรกิจ ที่สามารถทำให้ลงทุนแล้วเติบโตอย่างรวดเร็วได้กำไรงาม

กลโกงที่ 7 สร้างภาพว่าเป็นกิจการที่ช่วยเหลือสังคม ได้รับรางวัลมากมาย

กลโกงที่ 8 มีการรับประกัน หรือการันตี (guarantee) ว่าเมื่อลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทน 100% ไม่มีเสียโอกาส หรือไม่มีการขาดทุนเด็ดขาด

กลโกงที่ 9 เชิญชวนว่าหากชอบทำงานสบาย งานง่าย ๆ ไม่ลำบาก ไม่ยาก ทำงานได้โดยไม่กระทบต่องานประจำที่ทำอยู่ ลงทุนน้อย ได้รับผลตอบแทนสูง และได้รับแน่นอน ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ทั้งสิ้น

กลโกงที่ 10 โฆษณาว่า เป็นการทำธุรกิจแนวใหม่ หรือเป็นการลงทุนแบบใหม่ (Start Up) หรือลงทุนในสินทรัพย์/หลักทรัพย์ตัวใหม่ ๆ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความทันสมัย มีแนวโน้มหรือเทรน (Trend) มาแรง ลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนสูง

กลโกงที่ 11 แสดงให้เราเห็นว่า เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกกับบริษัทหรือกิจการของเขาแล้วจะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม

กลโกงที่ 12 จูงใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาเชิญชวน ในอัตราที่สูงโดยจ่ายแค่ครั้งแรก ๆ ก่อนที่จะหอบเงินเหยื่อหนีหายไป

กลโกงที่ 13 อ้างว่าต้องใช้สกุลเงินดิจิทัลในการลงทุนและต้องเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ในการลงทุน สุดท้ายก็เชิดหนี

กลโกงที่ 14 แอบอ้างว่า มีการจัดตั้งบริษัทหรือกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงยังไม่ได้รับการอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.), หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

กลโกงที่ 15 หลอกให้เราโอนเงินไปลงทุน แล้วจูงใจแจ้งเราว่ารอรับผลตอบแทนอย่างเดียวไม่มีขาดทุน

กลโกงที่ 16 มีการให้เราเชิญชวนบุคคลอื่น แล้วให้ค่าแนะนำเชิญชวนบุคคลอื่นมาเข้าร่วมในลักษณะแม่ทีมลูกทีม

กลโกงที่ 17 เชิญชวนเราไปในพื้นที่ส่วนตัว หรือในโซเชียลมีเดีย (Social Media) เช่นการชวนเข้าไลน์ (Line) เฟซบุ๊ก (Facebook) กลุ่มที่เป็นห้องลับ ไม่ใช่สาธารณะ ซึ่งเป็นห้องสนทนาส่วนตัว ที่มีแต่ทีมมิจฉาชีพเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ เพื่อชักจูงให้เราเกิดความอยากลงทุน อยากได้รับผลตอบแทนสูง ๆ

กลโกงที่ 18 อุปโลกน์ตัวอย่างคนที่ได้รับผลตอบแทน ให้เห็นว่าได้รับผลตอบแทนสูงจริงเพื่อจูงใจ

กลโกงที่ 19 มีการเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาลงทุนได้ หรือเป็นสมาชิกในบริษัทหรือกิจการได้ไม่อั้น ไม่จำกัดจำนวนหรือไม่จำกัดสถานสภาพหรืออายุ ใคร ๆ ก็สามารถนำเงินมาลงทุนได้

กลโกงที่ 20 แอบอ้างว่า มีการจดทะเบียนหรือร่วมลงทุน หรือนำเงินไปลงทุนกับธุรกิจ ที่อยู่ในต่างประเทศ

กลโกงที่ 21 แสดงให้เราเห็นว่าเขามีบริษัทหรือกิจการในเครืออีกหลายแห่ง เพื่อให้เห็นว่าเขามีธุรกิจและมีเครือข่ายกว้างขวาง

กลโกงที่ 22 มีวิธีการทำให้เราตรวจสอบทางการเงินไม่ได้ มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ทำให้เราเกิดความงง และให้เราเข้าใจว่าสาเหตุที่คนอื่นๆที่เข้ามาลงทุนร่ำรวยมากขึ้นเพราะเกิดจากการเข้ามาลงทุนนี้

กลโกงที่ 23 อ้างว่าจะมีการนำเงินสด (เงินบาท) ของเรา ไปลงทุนหรือแลกเปลี่ยนเป็นหน่วยลงทุนที่บริษัทหรือกิจการกำหนดขึ้นมาเอง (เอาเงินจริงไปแลกเป็นเงินสมมุติที่ทางเขากำหนดขึ้นมา)

กลโกงที่ 24 มีการสร้างโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งเหมือนจริงทุกประการ มาเป็นหน้าจอแสดงผลหรือรายงานผลการลงทุน/ผลตอบแทน มีการแสดงกราฟแบบเรียลไทม์ (Real Time) ดูเหมือนจริงโดยไม่มีที่ติ

กลโกงที่ 25 ให้เราไปชักชวนคนใกล้ชิดหรือคนสนิทของเรา หรือในทางกลับกันอาจเป็นคนใกล้ชิดหรือคนสนิทของเรามาชวนเราให้เข้ามาลงทุนหรือให้เข้ามาติดกับดัก เช่น คนในครอบครัว พี่น้อง ญาติ หรือเพื่อน ว่าเข้ามาลงทุนแล้วได้รับผลตอบเทนสูงลองเข้ามาคุยด้วยกัน (ลองซิเค้าได้รับผลตอบแทนสูง ๆ กันมาแล้ว)

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-1671954