Smart Investment

เทียบผลตอบแทนหุ้นไทย VS ทองคำ ย้อนหลัง 20 ปี สินทรัพย์ไหนน่าสนใจ


13 ตุลาคม 2567

Mr.Data

สัปดาห์นี้ Mr.Data ชวนมาเปรียบเทียบผลตอบแทนย้อนหลังการลงทุนตลาดหุ้นไทย และทองคำ ในช่วง 20 ปีย้อนหลัง ว่ามีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน ???

 เทียบผลตอบแทนย้อนหลัง 20 ปี_S2T (เว็บ) copy.jpg

แต่ขอบอกไว้ก่อนนะว่า สินทรัพย์แต่ละประเภทมีความเสี่ยง และผลตอบแทนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนจะสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

และผลตอบแทนในอดีตก็ไม่สามารถการันตีอนาคต! ได้เช่นกัน

ที่เอามาฝาก ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการออม เพื่อวัยเกษียณ

เริ่มจากทองคำในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2547-2567) ราคาทองคำแท่งในประเทศในปี 2547 อยู่ที่ 7,844  บาท/บาททองคำ ก่อนทะยานสู่ 41,550 บาท/บาททองคำ (วันที่ 11 ต.ค.67)  เพิ่มขึ้น 429.70% หรือ 21.48% ต่อปี

สาเหตุการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำมาจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย 

-ปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง

-ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ 

-แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น 

-ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ประเมินว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกอย่างน้อย 2 ปี จากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2% ภายใน 2 ปีข้างหน้า 

จากการวิเคราะห์ของ YLG ตั้งแต่ปี 2559 การลงทุนในทองคำแบบ “Buy and Hold” ให้ผลตอบแทนสูงถึง 124% 

บริษัท ออสสิริส จำกัด มองว่า การลดดอกเบี้ยโดยเฟดมักเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย 

“ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน นักลงทุนมักจะหันไปลงทุนในทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงและรักษามูลค่าของเงินลงทุน” 

ตัวอย่างจากอดีต ช่วงปี 1995 – 1999, 2001 – 2004, และ 2007 – 2015 เฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ย และราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในระยะกลางถึงระยะยาวหลังจากการลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างการลดดอกเบี้ยของเฟดและราคาทองคำ ไม่ใช่กฎตายตัว และอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อราคาทองคำด้วย เช่น อัตราเงินเฟ้อ สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนในทองคำควรพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ไม่ใช่เพียงแค่การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพียงอย่างเดียว

มาที่ภาพของการลงทุนผ่านตลาดหุ้นไทย ย้อนหลัง 20 ปีที่ผ่านมา (2547-2567) ดัชนี SET Index ในปี 2567 ปิดที่ระดับ 668 จุด สู่ 1,500 จุด (คาดการณ์ปี 2567) เพิ่มขึ้น 124.55% หรือ 6.22% ต่อปี

บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลก และการลงทุนไตรมาส 4 ปี 2567 ว่า เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตดีเกินคาด อัตราเงินเฟ้อสูง นโยบายการเงินเข้มงวด อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง เข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มกลับมาชะลอตัวรอบใหม่ อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลงถึงปี 2568 รวมถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ที่ต้องจับตาในปี 2568 หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ด้วยสภาพดังกล่าวมีโอกาสส่งผลให้ตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) มีความผันผวนได้ 

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดลง และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสช่วยหนุนความน่าสนใจของตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงตลาดหุ้นไทย ที่ยังได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ Digital Wallet เฟส 1 ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ  ส่งผลให้คาดว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า 

ประเมินเป้าหมาย SET Index อยู่ที่ 1,500 จุด ภายในสิ้นไตรมาส 4 ปี 2567 และ 1,550 จุด ในปี 2568 หุ้นเด่น ได้แก่ BDMS CPALL GPSC HANA และ LHHOTEL

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำกลยุทธ์การลงทุนหุ้นสำหรับปี 2567 คาดว่า GDP ไทยจะเร่งตัวขึ้นจาก 2.3% ในปี 2566 เป็น 3.3% ในปี 2567 - ไม่รวมกระเป๋าเงินดิจิทัล  คาดผลประกอบการของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากทรงตัวในปี 2566 เพิ่มขึ้น +11% ในปี 2567 โดยประเมินเป้าหมาย SET Index ปลายปี 2567 ที่ 1,640 อ้างอิง Forward PE ที่ 16 เท่า

แนะนำ 5 ธีมหลักและหุ้นน่าสนใจ 10 หลักทรัพย์ในปี 2567 ประกอบด้วย

1.ธีมหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะนำ Com 7 (COM7), ซีพี ออลล์ (CPALL) เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และธนาคารกรุงไทย (KTB)

2.ธีมการฟื้นตัวของ FDI ตัวเลือกหลักของเรา คือ อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA), ซึ่งมีการดำเนินงานในประเทศไทยและเวียดนาม ควรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการย้ายโรงงานจากจีน

3. ธีมการการท่องเที่ยวฟื้นตัว เราชอบ Airports of Thailand (AOT) บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) และสยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA)

4.ธีมอัตราดอกเบี้ยพีคก่อนลง เราชอบ เมืองไทยแคปปิตอล (MTC)

5.ธีมการเติบโตแข็งแกร่ง/เงินสดสุทธิ/ผลตอบแทนที่เหมาะสม เราชอบ TQM Alpha (TQM)

เทียบผลตอบแทนย้อนหลัง 20 ปี_S2T (เพจ) 1.jpg