จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ไทย-ลาว ร่วมมือขนส่งสินค้าทางราง ดันไทยเป็นฮับอาเซียนติดปีก LEO


11 ตุลาคม 2567
การขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการขนส่งประเภทอื่น การสนับสนุนขนส่งระหว่างไทยกับสปป.ลาว  สนับสนุนธุรกิจของบมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์  (LEO)  

รายงานพิเศษ ไทย-ลาว ร่วมมือขนส่งสินค้าทาง.jpg

รัฐบาลสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว สปป.ลาว  โดยนายวีริศ  อัมระปาล ผู้ว่าการ รฟท. ระบุรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ จึงมอบหมายให้ รฟท. เร่งดำเนินการผลักดันและพัฒนาการขนส่งทางราง 

โดยการขนส่งสินค้าระหว่างไทย -ลาว - จีน เป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางรางให้เกิดการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ  และได้มีการลงนามเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางรถไฟและการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - สปป.ลาว  เช่น เส้นทางขนส่ง จุดเข้า - ออกประเทศ การจัดขบวนรถและตารางเดินรถ กฎข้อบังคับและเอกสารการขนส่งสินค้า กฎข้อบังคับการเดินรถ การให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ การชำระบัญชี ซึ่งจะสามารถขนส่งสินค้าร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากประเทศไทย ไปยัง สปป.ลาว และ จีน  มีหลายประเภท เช่น  ข้าวมอลต์ ปุ๋ย อะไหล่รถยนต์ สินค้าอีคอมเมิร์ช สินค้าอุปโภคบริโภค และผลไม้ เฉลี่ยวันละ 4 - 6 ขบวน ไป/กลับ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (ทุเรียน) และสินค้าที่มาจากแหลมฉบัง ไปยังสถานีขนถ่ายสินค้าท่านาแล้ง สปป.ลาว เพื่อกระจายสินค้าไปยัง สปป. ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 

โดยในปี 2566 รายได้จากการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - สปป.ลาว อยู่ที่  11,361,000 บาท และช่วงเดือนตุลาคม 2566 - สิงหาคม 2667 มีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวน 26,749,500 บาท  อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2568 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท

"การลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและสปป.ลาวครั้งล่าสุด  จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยขยายโครงข่ายคมนาคมทางราง ยกระดับการขนส่งสินค้าทางรางทั้งสองประเทศ ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนได้ตามนโยบายของรัฐบาล" นายวีริศ กล่าว

แนวทางการพัฒนาการขนส่งข้ามประเทศของรัฐบาล สอดคล้องกับการทำธุรกิจของ บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์  (LEO)  ในฐานะผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร  ซึ่ง “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มั่นใจผลการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่อง จากการเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ เช่น Self Storage & Wine Storage สาขา ถนนพระราม 4 

รวมทั้งโครงการ JV ที่ได้จัดตั้งในปี 2566 เช่น การขนส่งทางรางไปยังประเทศจีน-ลาว ของบริษัท LaneXang Express ที่มีรายได้แล้วในไตรมาส 2/2567 จำนวน 3.2 ล้านบาท และการขนส่งสินค้าทางรางภายในประเทศของบริษัท Sritrang LEO Multimodal Logistics ที่มีรายได้แล้วในไตรมาส 2/2567 จำนวน 19 ล้านบาท รวมถึงการให้บริการศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าของบริษัท Advantis LEO

ซึ่งทั้ง 3 บริษัทจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในไตรมาส 3-4/2567 และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทในการเพิ่มรายได้จากธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องใน 1-2 ปีข้างหน้า
LEO