Talk of The Town

TISCO ไตรมาส3/67 กำไรลด 8.6% ฉุด 9 เดือนปีกำไรเหลือ 5.19 พันลบ. เหตุต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น


15 ตุลาคม 2567

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทมีกำไรในงวดไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 1,713 ล้านบาท ลดลง 8.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มสูงขึ้น

TISCO ไตรมาส_S2T (เว็บ) copy.jpg

ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1% จากการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลัก พร้อมกับการรับรู้ผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น

ทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 9.9% จากการขยายตัวของส่วนแบ่งทางการตลาดของบล.ทิสโก้ และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 6.6% ตามจากเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารนอกจากนี้บริษัทมีการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า

ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิชะลอตัวลง 3% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นไปตามแผนการเพิ่มสำรองกลับสู่ระดับปกติรวมทั้งสะท้อนความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/67 กำไรสุทธิลดลง 2.3% สาเหตุจากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจและผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักฟื้นตัว โดยเฉพาะจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน สอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาดทุนไทย โดยค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 38.8% และค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 4.3% 

นอกจากนี้ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันที่ 1.1% จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% ด้านสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 ของบริษัทอยู่ที่ 5,199 ล้านบาท ลดลง 5.8% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ตามแผนการเพิ่มสำรองกลับสู่ระดับปกติ พร้อมทั้งรองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

สำหรับรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 2.9% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 1% ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 7.6% จากการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ และผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL)

ประกอบกับค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนขยายตัวได้ 2.7% ตามจากเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร อย่างไรก็ดี ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด