รายงานพิเศษ : SM รับอานิสงส์รัฐบาลหนุนลงทุน EEC บุกตลาดปล่อยสินเชื่อโทรศัพท์มือถือ
รัฐบาลให้ความสำคัญการการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งตั้งแต่ ม.ค.2566 ถึง ก.ย. 2567 มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 135,000 ล้านบาท และยังทำให้เกิดการจ้างงานกับคนในประเทศ กระตุ้นการใช้จ่าย ส่งผลดีต่อธุรกิจ บมจ.สตาร์ มันนี่ (SM) ที่มีความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อ พื้นที่ภาคตะวันออก
การส่งเสริมการลงทุนและการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ของรัฐบาลกระตุ้นกำลังซื้อ การใช้จ่าย และเศรษฐกิจในภาคตะวันออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษว่า รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 4 โครงการใหญ่ ซึ่งได้ชักชวนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1.การแพทย์และสุขภาพ 2. ดิจิทัล 3. ยานยนต์สมัยใหม่ 4. เศรษฐกิจ BCG และ 5.บริการ
ซึ่งตั้งแต่ ม.ค.2566 ถึง ก.ย. 2567 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ชักชวนนักลงทุน 139 ราย มีนักลงทุนที่สนใจลงทุนใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์ ดังกล่าวและได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) รวม 35 ราย จำนวน 36 โครงการ มีการยื่นข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซีแล้ว จำนวน 12 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 135,000 ล้านบาท
ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 7 เดือนแรกของปี 67 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุ อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 460 ราย
โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 124 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีจำนวน 137 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 88% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 73 ราย และมีมูลค่าการลงทุน 27,677 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 124% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 12,348 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากญี่ปุ่น 45 ราย ลงทุน 8,138 ล้านบาท จีน 29 ราย ลงทุน 3,039 ล้านบาท ฮ่องกง 14 ราย ลงทุน 5,058 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 49 ราย ลงทุน 11,442 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน ได้แก่
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับระบบต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม
- ธุรกิจบริการรับจ้างตกแต่งชิ้นงาน ด้วยวิธีการตัด เจาะ กลึง ไส หรือทำเกลียวชิ้นงานตามแบบ
- ธุรกิจบริการจัดเก็บสินค้า วัตถุดิบ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ เคมีภัณฑ์ สารเคมีและวัตถุอันตราย
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน, ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ เครื่องมือไฟฟ้า (Power Tools) และมอเตอร์เครื่องจักรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับกลุ่มภาพและเสียง เป็นต้น)
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น
การลงทุนใน EEC ที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลดีต่อตลาดแรงงานของไทย การจ้างงานในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจ บมจ.สตาร์ มันนี่ (SM) ที่มีความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อ พื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเน้นขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ
โดย “ชูศักดิ์ วิวัฒน์วงศ์เกษม” กรรมการผู้จัดการSM ระบุแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 บริษัทฯ มุ่งเน้นขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง เป็นตลาดที่มีการเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว และ High Margin ซึ่งโทรศัพท์มือถือจะเป็นสินค้าเรือธง (Flagship) ของปีนี้
โดยบริษัทฯ เตรียมเพิ่มช่องทางการขายให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในส่วนออฟไลน์และออนไลน์ โดยจะเป็นการเปิด Shop มือถือเพิ่มเติมในทำเลพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเปิด Shop มือถือเพิ่มเติมในรูปแบบ Shop In Shop ในสาขาย่อยอีกกว่า 60 สาขา อีกทั้งจะร่วมมือกับพันธมิตรร้านตู้และร้านโทรศัพท์มือถือ ผลักดันรายได้ปี 2567 เติบโตเกิน 15-20% สร้างสถิติสูงสุดใหม่ ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนการดูแลคุณภาพหนี้ บริษัทได้นำระบบบล็อกโฟนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ทำให้การจัดเก็บหนี้มีคุณภาพ อัตราหนี้เสียอยู่ในการดูแล