รายงานพิเศษ : SSP พร้อมลุย “ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน” “สินเชื่อสีเขียว” หนุนฐานทุนแข็งแกร่ง
สินเชื่อสีเขียวหรือ secured green loan ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับ บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) และสนับสนุนการเติบโตของบริษัทให้เป็นไปตามเป้า ปี 2568 กำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 500 เมกะวัตต์

แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อสีเขียวหรือ Green Loan เป็นแนวทางหนึ่งที่ทุกสถาบันการเงินให้น้ำหนักในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ก็ได้รับวงเงินสนับสนุนสินเชื่อ secured green loan จาก International Finance Corporation (IFC) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มูลค่ารวมกว่า 2.2 พันล้านบาท ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP “วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์” ระบุว่า สินเชื่อที่ได้รับ เพื่อปรับโครงสร้างวงเงินที่กลุ่มบริษัทมีอยู่ในปัจจุบัน และ เป็นวงเงินเพิ่มเติมเพื่อสำหรับการลงทุนในอนาคต
โดยประโยชน์ที่บริษัทฯได้รับนอกจากจะได้ต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ซึ่งมาช่วยตอบโจทย์ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นบริษัทฯ ยังได้รับวงเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยเสริมความพร้อมในฐานเงินทุนสำหรับการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นรอบใหม่ในธุรกิจพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาด้านพลังงานที่เปิดขึ้นมาใหม่ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม หรือ ในประเทศอื่นๆ ตามเป้า 500 MW
ที่ผ่านมา SSP ได้มีการปรับกลยุทธ์ขยายการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ ตอกย้ำให้เห็นว่า บริษัทฯไม่ได้เป็นเพียงผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า Greenfield หรือ โซลาร์ฟาร์มเพียงอย่างเดียว แต่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable) อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการทำ M&A ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และวินด์ชัยขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 25% ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่บริษัทฯประสบความสำเร็จในการลงทุนในช่วง 1 ปีผ่านมา จากการสั่งสมประสบการณ์ของทีมงานผู้บริหารที่มีความเข้าใจธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นอย่างดี ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ LEO 2 ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 22 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)ได้ราวไตรมาส 2 ปี 2567 ส่วนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ ในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา และรอความชัดเจนจากภาครัฐของเวียดนาม ภายใต้แผนการพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (PDP8)
ทั้งนี้การที่บริษัทฯมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจะยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้ฐานเงินทุนมีความมั่นคง รองรับแผนการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้า Renewable ได้ทุกรูปแบบ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้ว 232 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายในปี 2568 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นเท่าตัวแตะที่ระดับ 500 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนจากแหล่งพลังงานใหม่ๆ เช่น พลังงานลม หรือ ชีวมวล เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน