จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : RICHY รับอานิสงส์รัฐบาลเล็งออก 4 มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ


18 ตุลาคม 2567

รัฐบาลเตรียมออกมาตรการ “ซื้อ-แต่ง-ซ่อม-สร้าง” กระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเติบโดต่ำกว่าศักยภาพ   จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง  ส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะ RICHY หนุนผลงานปีนี้เติบโตตามเป้าหมาย

รายงานพิเศษ RICHY copy.jpg

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุด กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3/67 ยังคงเป็นภาพของการทรงตัว  ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าต่างชาติที่เริ่มชะลอการโอนลงไปบ้าง หลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว ทำให้ลูกค้าต่างชาติปรับตัวไม่ทัน ทำให้อาจจะมีลูกค้าต่างชาติบางรายที่กลับมาเตรียมความพร้อม และจะเห็นการกลับมาโอนในไตรมาส 4/67   

ยอดขายที่ชะลอตัวลง ยังมีปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และปัจจัยภายนอกที่มีความผันผวน ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ปรับแผนการเปิดโครงการในปีนี้ 

อสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลง ส่งผลกระทบไปยังธุรกิจอื่น เช่น  ทั้งของใช้  ของตกแต่งบ้าน  ดังนั้นภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ซึ่งนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการ ซื้อ-แต่ง-ซ่อม-สร้างต้องการสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ต่อเนื่อง โดยรองรับความต้องการมีบ้านของประชาชนที่มีรายได้น้อย ให้เข้าถึงสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ และสามารถใช้เพื่อซ่อมแซมต่อเติมบ้าน เพราะทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ  ซึ่ง

โดยสินเชื่อซื้อ-สร้าง ดอกเบี้ยพิเศษ 5 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือคอนโดมีเนียม ปลูกสร้างบ้าน หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกบ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อใช้ในการอยู่อาศัย วงเงินสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาท        

ส่วนสินเชื่อซ่อม-แต่ง ดอกเบี้ยพิเศษ 3 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นสินเชื่อเพื่อต่อเติมหรือซ่อมแซมบ้าน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทย เริ่มชะลอการเติบโตลงมานับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 โดยข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาสที่ 2/2567 ยอดคงค้างเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท เติบโตเพียง 1.3% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มมีการเผยแพร่สถิติข้อมูลในปี 2546 และชะลอลงต่อเนื่องจากที่เติบโต 4.2% YoY ในไตรมาสที่ 3/2565 โดยการชะลอลงของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในช่วงดังกล่าว สะท้อน 4 เรื่องหลัก ได้แก่

1. การทยอยหดตัวลงของหนี้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเภทหนี้ Big-Ticket Items ของครัวเรือน โดยหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ฯ ของครัวเรือน หดตัวลง 5.8% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ลึกที่สุด นับตั้งแต่ฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนแบ่งตามวัตถุประสงค์การกู้เริ่มเผยแพร่ในปี 2555 และเป็นการหดตัวลงตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้รถยนต์ต่อหนี้ครัวเรือนไทย ลดลงมาอยู่ที่ 10.6% ในไตรมาสที่ 2/2567 จากที่เคยมีสัดส่วนประมาณ 11.5% ต่อหนี้ครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับภาพการหดตัวลงของตลาดรถยนต์ในประเทศ

2. สินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์หดตัวลง ทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ และที่อยู่อาศัยมือสอง ทั้งแนวราบและอาคารชุด หลังมาตรการผ่อนปรน LTV สำหรับช่วงโควิด-19 สิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2565 ขณะที่ยอดคงค้างหนี้อสังหาริมทรัพย์ของภาคครัวเรือนที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินทุกประเภท ชะลอลงจากที่เติบโต 5.3% YoY ไตรมาสที่ 3/2565 มาที่ 3.0% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่ฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนแบ่งตามวัตถุประสงค์การกู้เริ่มเผยแพร่ในปี 2555 เช่นกัน

3. หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น (ไม่รวมบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) ยังคงเร่งตัวขึ้น สวนทางกับหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ชะลอลง ซึ่งภาพดังกล่าวสะท้อนว่า ครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อกินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยยอดคงค้างหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น เร่งขึ้น 4.4% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 เทียบกับเติบโตประมาณ 2.1% YoY ไตรมาสที่ 3/2565 ขณะที่ยอดคงค้างหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวเพียง 3.6% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 จากที่เคยโตถึง 15.5% YoY ในไตรมาสที่ 3/2565

4. ครัวเรือนเริ่มมีการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากขึ้น ตลอดช่วง 3-6 ไตรมาสที่ผ่านมา อาทิ การกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ เติบโต 4.0% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 สูงกว่าการกู้ยืมผ่านแบงก์ และ SFIs และการกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันที่ทำไว้ (เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง นำเงินบางส่วนมาหมุนใช้จ่าย โดยที่การคุ้มครองหลักจากกรมธรรม์ยังคงไว้อยู่ และไม่ต้องยกเลิกสัญญาของประกันที่ทำไว้) ซึ่งเติบโต 4.3% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 ขณะที่การกู้ยืมจากโรงรับจำนำเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 9.7% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567

การกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล  ส่งผลดีต่อ บมจ.ริชี่ เพลซ 2002 (RICHY) ซึ่งนางสาวพิชญา  ตันโสด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุในไตรมาส 4/2567 มีแผนขยายการลงทุนโครงการอสังหาฯ แนวราบอีก 4 โปรเจค รองรับดีมานด์ลูกค้า และเตรียมขยายธุรกิจกลุ่ม Recurring Income เปิดให้บริการธุรกิจห้องเช่าและคอมมูนิตี้มอลล์เพิ่ม ซึ่งจะส่งผลให้มีบริษัทมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโต 50% ตามแผนงานที่วางไว้