บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) พร้อมลุยธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 คาดประกาศผลคัดเลือก 22 มี.ค. 2566
ธุรกิจโรงไฟฟ้า ยังเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) แม้ว่าระยะหลังกระแสข่าวของบริษัทที่ออกมาจะเน้นในส่วนการธุรกิจแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า สะท้อนจากการเปิดเผยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์, พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์
โดยมีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารวม 670 โครงการ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการ และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายรวม 17,400 เมกะวัตต์ ขณะที่มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าว จำนวนรวม 523 ราย ซึ่งโครงการที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นพบว่า บริษัทที่จดทะเบียน(บจ.) ส่วนใหญ่ยื่นคำขอโครงการประเภทโซลาร์ รวมทั้ง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ด้วย
คาดว่า กกพ.จะประกาศผลพิจารณาคุณสมบัติวันที่ 11 ม.ค.2566 และประกาศผลคัดเลือกวันที่ 22 มี.ค. 2566 คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในวันที่ 5 เม.ย 2566
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ดาโอก็ได้วิเคราะห์หุ้น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) โดยระบุว่า ปี 2022E เป็นปีแรกที่ EA จะเริ่มบันทึกกำไรจากธุรกิจแบตเตอรี่ (Battery) และยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) โดยประเมินว่า รายได้จากธุรกิจนี้ (บริษัทประกอบรถไฟฟ้า AAB (EA ถือหุ้น 55%, NEX ถือหุ้น 45%) โรงผลิตแบตเตอรี่ Amita Thailand (EA ถือ 70%)) จะเติบโตจาก 6.38 พันล้านบาทในปี 2022E เป็น 3.16 หมื่นล้านบาทในปี 2025E จากการประกอบรถไฟฟ้าเชิงพานิชย์ (รถโดยสารไฟฟ้าให้กับ Thai smile bus และหัวรถลากไฟฟ้า NEX) ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 1,000 คัน ในปี 2022E เป็น 6,700 คันในปี 2025E ในขณะที่ ปัจจุบัน AAB สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ถึงสูงสุดอยู่ที่ 9,000 คันต่อปี
ซึ่งจากเทรนความต้องการเปลี่ยนจากยานยนต์สันดาปภายในเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ของยานยนต์เชิงพานิชย์ เช่น รถตู้โดยสาร (E Van), รถบัสโดยสารต่างจังหวัดระยะสั้น (E Bus), รถกระบะและรถบรรทุก 6 ล้อ, 10 ล้อ ไฟฟ้า (E Truck) ซึ่งเป็นตลาดที่ EA มุ่งเน้น ที่มีการแข่งขันน้อย Blue ocean) โดยเฉพาะจากผู้ผลิตจากต่างประเทศ ในขณะที่ EA มีโรงงานประกอบใหญ่สุดในประเทศ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 5 หมื่นคัน/ปี เงินลงทุนราว 5-6 พันล้านบาท โดยจะยังคงเน้นการขายในกลุ่มลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน
บริษัทประเมินกำไรจากธุรกิจไฟฟ้า (solar wind) ของ EA จะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2023E หลังจากที่ไม่มีกำลังการผลิตใหม่ๆเข้ามาและ Adder ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะเริ่มทยอยหมดลงตั้งแต่ใน 4Q22E อย่างไรก็ตามเราคาดว่าธุรกิจไฟฟ้า ยังมีโอกาสกลับมาเติบโตได้จากโครงการใหม่ๆภายใต้ แผน PDP ไทยล่าสุดที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในไทยจำนวน 5.2GW (2024-30)
บริษัทประมาณการกำไรสุทธิปี 2022E ที่ 8.09 พันล้านบาท ขยายตัว 36.4% YoY และกำไรสุทธิปี2023E ที่1.09 หมื่นล้านบาท โต 35.5% YoY โดยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ที่เริ่มส่งมอบตั้งแต่ใน 4Q22E จะเป็น key driver หลัก อย่างไรก็ตาม เราให้คำแนะนำเพียง “ถือ” จากราคาหุ้นปัจจุบันที่ได้สะท้อนมูลค่าธุรกิจในอนาคตไว้พอสมควรแล้ว โดยราคาเป้าหมาย 90.00 บาท เราประเมินธุรกิจ Battery (46.20 บาท) จากสมมติฐานกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 6 GWh ในปี 2029E (ปัจจุบัน 1 GWh), EVs (8.70 บาท) จากสมมติฐานกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 คัน/ปี ในปี 2025E, และความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทนอีก 10.30 บาท จากสมมติฐานกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีก 1,050 MW