จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ธุรกิจอสังหาฯส่งสัญญาณบวก PREB รับข่าว “มาตรการกระตุ้น-กนง.ลดดอกเบี้ย”


22 ตุลาคม 2567

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอสังหาฯ ส่งสัญญาณบวก รับปัจจัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ  มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการปรับลดดอกเบี้ยของกนง. หนุนการเติบโตของ บมจ.พรีบิลท์  (PREB) ที่บริษัทเดินหน้าเข้าร่วมประมูลงานและรับรู้รายได้จากโครงการที่ทยอยขาย

 รายงานพิเศษ ธุรกิจอสังหาฯ ส่งสัญญาณบวก PREB ร.jpg

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ - ปริมณฑลในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาส 3 ของปี 2567 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่ามีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 45.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2567 ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 45.2 และลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ค่าดัชนีเท่ากับ 49.7

โดยต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ติดต่อกัน เป็นไตรมาสที่ 7 นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2566  ซึ่งปัจจัยมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 40.7 จากระดับ 47.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และความเชื่อมั่นด้านการลงทุนลดลงอยู่ที่ระดับ 47.4 จากระดับ 47.6 ในไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี REIC พบสัญญาณเชิงบวกจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่เม็ดเงินลงสู่ระบบ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น และการเปิดลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ ที่ทำให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กลับมาคึกคักเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จาก 2.50% ต่อปี เหลือ 2.25% ต่อปี และการที่ ธอส. จัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง รวมถึงกลุ่มเปราะบางในช่วงท้ายปี ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกในหลายด้านมากขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นในหลายด้านปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย ด้านผลประกอบการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 42.0 จากระดับ 39.5, ด้านการเปิดโครงการใหม่ และ/หรือเฟสใหม่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.7 จากระดับ 49.1, ด้านต้นทุนการประกอบการ (ผกผัน) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 40.4 จากระดับ 38.9 และด้านการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 49.6 จากระดับ 48.7

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการกลุ่มรายกลาง-รายย่อย (Non-listed Companies) มีระดับ 41.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 34.6 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว มีแนวโน้มคลายความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ธุรกิจในภาวะปัจจุบันมากขึ้น

สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อมากระตุ้นการเติบโต โดย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการกระตุ้นการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ “ซื้อ-แต่ง-ซ่อม-สร้าง”

โดยสินเชื่อซื้อ-สร้าง ดอกเบี้ยพิเศษ 5 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือคอนโดมีเนียม ปลูกสร้างบ้าน หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกบ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อใช้ในการอยู่อาศัย วงเงินสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาท

ส่วนสินเชื่อซ่อม-แต่ง ดอกเบี้ยพิเศษ 3 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นสินเชื่อเพื่อต่อเติมหรือซ่อมแซมบ้าน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท

ซึ่งการออกมาตรการของรัฐบาลจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบมจ.พรีบิลท์  (PREB) “โรจน์ เจริญตรา” กรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงธุรกิจอสังหาฯช่วงครึ่งหลังของปี 67 ว่า บริษัทยังไม่แผนเปิดโครงการใหม่ มีเพียงงานที่ JV และทยอยขายอยู่เป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม ราว 4 โครงการมูลค่ารวมราว 2,800 ลบ.ก็จะทยอยรับรู้ต่อเนื่อง

และบริษัทยังเดินหน้าประมูลงานใหม่อีก 5 งานมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 5,000 ลบ. โดยเบื้องต้นคาดหวังจะได้งานราว 30% ของมูลค่างานที่ยื่นทั้งหมด ซึ่งหลักๆจะเน้นงานก่อสร้างโรงพยาบาล และศูนย์การค้า