รู้จัก! แอตลาส เอ็นเนอยี (ATLAS) หนึ่งในผู้นำการจัดจำหน่ายก๊าซ LPG เครือ PTG กำลังจะเข้าตลาดหุ้น
Mr.Data
สัปดาห์นี้ Mr.Data พามารู้จัก บมจ.แอตลาส เอ็นเนอยี (ATLAS) หนึ่งในผู้นำในการจัดจำหน่ายก๊าซแอลพีจี (LPG) บริษัทในเครือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) เจ้าของสถานีบริการน้ำมัน PT ที่มีสาขาทั่วประเทศไทย สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยก่อนขายหุ้นไอพีโอ PTG ถือหุ้นในสัดส่วน 100%
โดย ATLAS จำหน่ายก๊าซแอลพีจีให้กับลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือน กลุ่มผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่ง และกลุ่มผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แบรนด์ PT มีแผนเข้าระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ภายในปี 2568 รองรับแผนการขยายธุรกิจและสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต
ปัจจุบัน ATLAS ถือเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซ LPG โดยครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อันดับ 4
จากข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 ATLAS มีปริมาณขายก๊าซแอลพีจีในประเทศไทย จำนวน 183.2 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วน 10.12% ของมูลค่าตลาดรวม
ส่วนเบอร์หนึ่งของตลาดคือ ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ปริมาณขายอยู่ที่ 715.7 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วน 39.53% ของมูลค่าตลาดรวม
ตามมาด้วยเบอร์สอง สยามแก๊ส ปริมาณขายอยู่ที่ 400 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วน 22.09% ของมูลค่าตลาดรวมและเบอร์สามคือ ดับบลิวพี ปริมาณขายอยู่ที่ 367.7 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วน 20.31% ของมูลค่าตลาดรวม
โดย ATLAS เตรียมเข้าระดมทุนและเสนอขายหุ้นไอพีโอ 418,420,000 หุ้น คิดเป็น 29.50% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯในครั้งนี้
สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ ATLAS เตรียมนำเงินไปใช้
1) การลงทุนเพื่อเพิ่มโรงบรรจุก๊าซแอลพีจีและร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือน
บริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดดำเนินงานโรงบรรจุก๊าซหุงต้มที่บริษัทฯ เป็นผู้บริหารจัดการ (โรงบรรจุก๊าซของบริษัทฯ) เพิ่มขึ้น เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการออกไปให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะสรรหาและเปิดดำเนินงานโรงบรรจุก๊าซของบริษัทฯ เพิ่มเติมทั้งสิ้น 5 แห่ง ในช่วงปี 2568 ในพื้นที่ที่ปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่มีโรงบรรจุก๊าซของบริษัทฯ เปิดดำเนินงาน เช่น ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน เป็นต้น ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทำเลสำคัญสำหรับการจำหน่ายก๊าซหุงต้มให้กับผู้ใช้ก๊าซในครัวเรือน ตลอดจนกลุ่มลูกค้าพาณิชยกรรม (Commercial Customer) ที่ใช้ก๊าซหุงต้มในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร และ ธุรกิจร้านซักรีด
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะเปิดให้บริการร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มที่บริษัทฯ เป็นผู้บริหารจัดการ (ร้านจำหน่ายก๊าซของบริษัทฯ) เพิ่มเติม เพื่อขยายช่องทางในการจำหน่ายก๊าซหุงต้มบรรจุถังที่อัดบรรจุจากทั้งโรงบรรจุก๊าซของบริษัทฯ ในปัจจุบัน และโรงบรรจุก๊าซของบริษัทฯ ที่เปิดใหม่ตามแผนข้างต้น โดยบริษัทฯ วางแผนในการเปิดร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มของบริษัทฯ เพิ่มเติม จำนวน 200 แห่ง ในช่วงปี 2568
2) การลงทุนเพื่อเพิ่มถังบรรจุก๊าซหุงต้มเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือน
นอกจากการลงทุนเพิ่มจำนวนโรงบรรจุก๊าซแอลพีจีและร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจการจำหน่ายก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือน บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะลงทุนซื้อถังบรรจุก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มจำนวนโรงบรรจุก๊าซของบริษัทฯ และร้านจำหน่ายก๊าซของบริษัทฯ ข้างต้น ที่เป็นการลงทุนเพื่อขยายพื้นที่การให้บริการออกไปให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องมีถังบรรจุก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการความต้องการและการใช้งานของลูกค้ารายใหม่
3) การลงทุนเพื่อเพิ่มสถานีบริการก๊าซแอลพีจีเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่ง
บริษัทฯ วางแผนที่จะเปิดให้บริการสถานีบริการก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะสรรหาและเปิดให้บริการสถานีบริการก๊าซแอลพีจีที่บริษัทฯ เป็นผู้บริหารจัดการ (สถานีบริการก๊าซของบริษัทฯ) เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 28 สาขา ในช่วงปี 2568
โดยการลงทุนดังกล่าวบริษัทฯ คาดว่าจะเป็นการลงทุนโดยการเช่าสถานีบริการก๊าซที่เปิดดำเนินงานหรือเคยเปิดดำเนินงานจากเจ้าของทรัพย์สินและปรับปรุงและเปิดให้บริการเป็นสถานีบริการของบริษัทฯ และการลงทุนอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีสัดส่วนไม่มากจะเป็นการซื้อหรือเช่าที่ดินที่อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพเพื่อนำมาก่อสร้างเป็นสถานีบริการก๊าซที่มีส่วนจำหน่ายน้ำมันในสถานีบริการ และมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Area) ขนาดใหญ่สำหรับรองรับร้านค้าจำนวนมาก เพื่อให้สถานีบริการดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการ
4) การลงทุนในโครงการ “PT Auto Transform” เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง
บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ “PT Auto Transform” ที่สนับสนุนให้ผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมาติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเปลี่ยนให้รถยนต์สามารถใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงได้ สำหรับรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ “PT Auto Transform” ทั้งนี้ บริษัทฯ สนับสนุนค่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งให้กับผู้เข้าร่วมโครงการบางส่วน และให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบส่วนลดค่าเชื้อเพลิงที่เติมจากสถานีบริการ PT บริษัทฯ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงให้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้บริษัทฯ มีลูกค้าประจำที่เติมก๊าซแอลพีจีกับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นได้
5) การลงทุนเพื่อขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรม นอกจากการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจการจำหน่ายก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง
บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะเพิ่มการจำหน่ายก๊าซแอลพีจีในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้น บริษัทฯ คาดว่าบริษัทฯ ต้องใช้เงินทุนส่วนหนึ่งสำหรับการลงทุนอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บก๊าซแอลพีจีและระบบท่อลำเลียงก๊าซแอลพีจีให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมบางส่วนที่มีความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตสินค้าหรือการดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่มีอุปกรณ์และระบบที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานก๊าซแอลพีจี การลงทุนอุปกรณ์ให้กับลูกค้าจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจใช้ก๊าซแอลพีจีกับบริษัทฯ ได้ง่ายขึ้น ในขณะที่บริษัทฯ จะมีลูกค้าที่ซื้อก๊าซแอลพีจีเป็นจำนวนมากจากบริษัทฯ และซื้อก๊าซแอลพีจีจากบริษัทฯ ในระยะยาวตามเงื่อนไขการลงทุนในอุปกรณ์ที่กำหนดระยะเวลาที่ลูกค้าต้องซื้อก๊าซแอลพีจีจากบริษัทฯ
6) การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจี
บริษัทฯ ได้ศึกษาแนวทางการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีของบริษัทฯ เช่น การลงทุนเพิ่มขยายคลังก๊าซของบริษัทฯ ในพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนเพื่อเพิ่มสถานีบริการก๊าซแอลพีจีและโรงบรรจุก๊าซแอลพีจี เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการเก็บสำรองและการขนส่งก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในการจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการจัดส่งก๊าซแอลพีจีไปยังสถานีบริการก๊าซและโรงบรรจุก๊าซให้เหมาะสม สามารถขนส่งก๊าซแอลพีจีไปยังสถานีบริการก๊าซและโรงบรรจุก๊าซได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และ การลงทุนในธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีโดยการขยายธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีในประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งยังมีความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีและมีศักยภาพในการเติบโตอยู่มาก
นอกจากนี้ บริษัทฯ อาจลงทุนในธุรกิจที่ส่งเสริมให้ธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีของบริษัทฯ เติบโตได้มากยิ่งขึ้น เช่น การลงทุนในธุรกิจผลิตซ่อมถังบรรจุก๊าซหุงต้ม ที่จะช่วยให้ธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีของบริษัทฯ ครบวงจรยิ่งขึ้น
ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทระหว่างปี 2564 – 2566 และงวดครึ่งแรกปี 2567 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 11,388.48 ล้านบาท 17,870.00 ล้านบาท 23,309.29 ล้านบาท และ 12,863.04 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีกำไรสุทธิ 50.12 ล้านบาท 314.23 ล้านบาท 232.44 ล้านบาทตามลำดับ และสำหรับในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 172.40 ล้าน
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จะมีบริษัท พีทีจี เอ็นเนอร์ยี จำกัด(มหาชน) ถือหุ้น 100% ภายหลัง IPO สัดส่วนจะลดลงมาอยู่ที่ 70.50%