Wealth Sharing

เปิดหน้าหุ้นเก็งกำไร ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ สถิติชี้ชัด FDI เข้าไทยหลังเลือกตั้ง


04 พฤศจิกายน 2567

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่า อ้างอิงข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 สถิติชี้ชัดว่าทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือ S&P 500 และดัชนีตลาดหุ้นไทย มักเผชิญกับความผันผวนเชิงลบ 3 เดือน ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ผลตอบแทนจะเริ่มพลิกเป็นบวก 1-3 เดือนหลังการเลือกตั้ง และผลตอบแทนจะเร่งตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหากถือครองเป็นระยะเวลา 12 เดือนหลังการเลือกตั้ง

เปิดหน้าหุ้นเก็งกำไร_WS (เว็บ) copy_0.jpg

ถึงแม้สถิติย้อนหลังไม่สามารถบ่งชี้ผลตอบแทนล่วงหน้าได้แต่ด้วยระดับ Valuation ปัจจุบัน ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ซื้อขายบน PE ปี 68 ที่ 15.8 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี มีความน่าสนใจในการเก็งกำไรมากกว่า S&P 500 ที่ซื้อขายบน PE ปี 68 ที่สูงถึง 24.4 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี

สำหรับกลุ่มที่คาดได้ประโยชน์โดยตรง ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาในทิศทางไหนก็ตาม คือ นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภค และ System Integration 

โดยถ้าผู้ท้าชิงพรรค Republican ชนะการเลือกตั้ง คาดจะทำให้ US Bond Yield และ Dollar Index ปรับตัวลดลงช้ากว่าที่ตลาดประเมินไว้ก่อนหน้ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือ ท่องเที่ยว, เกษตรกรรม, การแพทย์, อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน

ขณะที่ถ้าผู้ท้าชิงพรรค Democrat ชนะการเลือกตั้ง คาดจะทำให้ US Bond Yield และ Dollar Index ปรับตัวลดลงจากนโยบายการคลังที่อนุรักษ์นิยม โดยกลุ่มที่คาดจะตอบรับเชิงบวกได้แก่ โรงไฟฟ้า, ค้าปลีก, สื่อสาร, การเงิน และ REIT

ทั้งนี้ สถิติการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันบ่งชี้ว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีจะมาจากพรรค Democrat หรือ Republican ก็ตาม ทิศทางเม็ดเงินลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศสุทธิมายังประเทศไทย (Net FDI) มักเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ปี 

หลังการเลือกตั้งจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติเพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า ด้วยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศปัจจุบัน ประเมินสงครามการค้ามีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป 

รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น Cloud service, Data center และ AI จะเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม, ระบบสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร (System Integration) ของประเทศไทย