Wealth Sharing

BANPU-PTTEP กำลังจะได้ประโยชน์ นโยบายพลังงานของ “ทรัมป์”


07 พฤศจิกายน 2567

โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่าอุตสาหกรรมพลังงานในไทยที่จะได้ผลกระทบเชิงบวกและลบจากผลเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการว่าทรัมป์ จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 (รับตำแหน่งวันที่ 20 ม.ค.) ดังนี้

BANPU-PTTEP_WS (เว็บ) copy_0.jpg

เริ่มที่ราคาน้ำมัน แม้ทรัมป์อาจสนับสนุนการเพิ่มปริมาณผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นและสงครามยูเครน -อิสราเอลอาจไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม มองว่าปริมาณผลิตน้ำมันสหรัฐฯ เร่งขึ้นจาก 9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2560 (อันดับ 3ของโลก) เป็นสูงกว่า 13 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก 

ดังนั้น มองว่าโอกาสเพิ่มอุปทานของสหรัฐฯ อาจทำได้อีกไม่มาก นอกจากนี้ มองว่านโยบายการเมืองระหว่างประเทศจะเข้มข้น โดยเฉพาะการคว่ำบาตรอิหร่าน เวเนซุเอลา อาจทำให้การผลิตน้ำมันของ 2 ประเทศที่ฟื้นตัวรวมราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ช่วงคุณไบเดน) จะพลิกมาลดลงได้ ซึ่งมองว่าจะมีน้ำหนักมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอุปทานสหรัฐฯ เป็นบวกต่อ PTTEP

ต่อมาราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ คาดว่าทรัมป์ จะมีนโยบายผ่อนปรนการให้ใบอนุญาตขยายกำลังผลิต LNG เพื่อส่งออก ซึ่งจะทำให้อุปสงค์ก๊าซสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เป็นบวกต่อราคาก๊าซ และ BANPU

ขณะที่ ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีคาดสงครามการค้า การขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจะรุนแรงมากขึ้น เป็นปัจจัยกดดันต่ออุตสาหกรรมการผลิตในจีน กระทบต่ออุปสงค์ปิโตรเคมีจากจีน ซึ่งสัดส่วนสูงราว 30% ของโลก เป็นลบต่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี SCC PTTGC IRPC IVL

สุดท้ายด้านพลังงานสะอาด มองว่าทรัมป์ จะให้ความสำคัญกับ Fossil Fuel มากขึ้น อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาด เช่น การให้ Incentive โครงการ CCUS (กระทบต่อ BANPU แต่ผลบวกจากราคาก๊าซจะมีน้ำหนักมากกว่า) อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวเป็นเมกะเทรนด์ของโลก จึงต้องติดตามว่าทรัมป์จะดำเนินการอย่างไร