จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : PKN อนาคตสดใสความต้องการพุ่ง แรงซื้อสินค้า “เพื่อสะสม-ลิมิเต็ด-ลิขสิทธิ์”


07 พฤศจิกายน 2567

กระแสที่มาแรงในการสะสมสินค้าลิขสิทธิ์  สินค้าลิมิเต็ดและสินค้าพรีเมี่ยมทั่วโลกที่เติบโตเฉลี่ย 4.2%  หนุนยอดขายของ บมจ.พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง (PKN) ได้รับลิขสิทธิ์ทั้งจากตัวการ์ตูน คาแรคเตอร์จากภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่นที่เป็นที่นิยมมากกว่า 100 คาแรคเตอร์ 

รายงานพิเศษ PKN copy.jpg

ธุรกิจลิขสิทธิ์ Licensing คือ การที่เจ้าของธุรกิจให้ใบอนุญาตให้อีกกิจการหนึ่ง สามารถใช้เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิ์ทางการตลาดอื่นๆ ของตน โดยได้ค่าตอบแทนจากสัญญาสัมปทานตามที่ได้ตกลงกัน  ปัจจุบันสินค้าลิขสิทธิ์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกหน่วยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ 

ส่วนภาพรวมธุรกิจลิขสิทธิ์ทั่วโลกจากบทวิเคราะห์ Global and Thailand Brand Licensing Market Research 2023 (Arsta Research) พบว่า ธุรกิจลิขสิทธิ์มีมูลค่าตลาด 290.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 10.3 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ที่ผ่านมา และคาดว่าอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 4.2% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2566 -2572 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีทบต้น (CAGR) ตั้งแต่ปี 2561-2572F เท่ากับ 3.6% โดยยอดขายปลีกทั่วโลกของสินค้าลิขสิทธิ์จะมีมูลค่าสูงถึง 389.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2572

สินค้าลิขสิทธิ์ที่เติบโตได้ดี  ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากกระแสความนิยม “ธุรกิจของเล่น”  สะท้อนจากมุมมองของ “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ติดตามแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เพื่อวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของธุรกิจในประเทศ 

ประกอบกับนำข้อมูลการนำส่งงบการเงินประจำปี 2566 (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2567) มาวิเคราะห์พบว่า ธุรกิจติดเทรนด์ที่มีการจัดตั้งเพิ่มขึ้นและยังทำรายได้ดีติดอันดับ ได้แก่ ผลิตแบตเตอรี่/มอเตอร์และอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า ท่องเที่ยว เครื่องใช้ไฟฟ้า สัตว์เลี้ยง จัดอีเวนต์ e-Commerce เครื่องสำอาง สุขภาพ ของเล่น และความเชื่อและศรัทธา ธุรกิจทั้งหมดสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2565 โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตขึ้น 36.32% และความเชื่อและศรัทธา เติบโตขึ้น 52.92% 

แต่ธุรกิจที่น่าสนใจได้แก่  ธุรกิจที่อยู่ในอันดับที่ 9  ได้แก่ “ธุรกิจของเล่น” ซึ่งปี 2566 มีการจัดตั้ง 120 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 49 ราย คิดเป็น 69.01% โดยปี 2566 สร้างรายได้ 0.02 ล้านลบ. เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 300 ลบ. คิดเป็น 1.57%     

โดย Art Toy เป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจนี้ และเป็นสินค้าที่มีกระแสนิยมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ผลิตตุ๊กตา เกมและของเล่นอื่นๆ ทั้งขายส่งและขายปลีก และจังหวัดที่สร้างรายได้สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 9,000 ลบ. สมุทรปราการ 3,000 ลบ. และสมุทรสาคร 1,600 ลบ.

ทั้งนี้ไทยมีมูลค่าการนำเข้าอาร์ตทอยในปี 2566 อยู่ที่ 128.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.72 พันล้านบาท) เติบโต 11.79% จากปี 2565 โดยนำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น และเวียดนามเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ไทยส่งออกอาร์ตทอยมูลค่า 251.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ (9.24 พันล้านบาท)ไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ป๊อปมาร์ท มองว่าไทยมีศักยภาพเติบโตสูงในอาร์ตทอย จากจำนวนผู้ซื้อที่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมการซื้อแบบสะสมครบเซ็ต ซึ่งต่างจากประเทศอื่นที่ซื้อเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น เพราะอาร์ตทอยไม่ใช่แค่ของเล่น แต่เป็นงานศิลปะที่สะท้อนรสนิยมและความหลงใหลของผู้สะสม ดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ กลายเป็นของสะสมที่มีมูลค่าและความหมาย

ตลาดสินค้าลิขสิทธิ์  สินค้าเพื่อการสะสม สินค้าลิมิเต็ดและสินค้าพรีเมี่ยม  จึงมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก  ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเข้าระดมในตลาดหลักทรัพย์ของ บมจ.พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง (PKN) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์  สินค้าเพื่อการสะสม สินค้าลิมิเต็ด  สินค้าพรีเมี่ยม และสินค้าลิขสิทธิ์ 

โดยนางดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 25,400,000 หุ้น คิดเป็น 25.30% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท และมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปีนี้

ขณะที่นายนพพล มิลินทางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  PKN ระบุว่า บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน เพื่อนำไปเป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและมีศักยภาพในอนาคต เช่น การเข้าซื้อกิจการ(M&A) และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ที่ผ่านมา PKN ได้รับลิขสิทธิ์ทั้งจากตัวการ์ตูน คาแรคเตอร์จากภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่นที่เป็นที่นิยมมากกว่า 100 คาแรคเตอร์ จากผู้ให้ลิขสิทธิ์ชั้นนำจากทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เช่น (1) Universal Studio Licensing เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ Minion และ Felix the cat และลิขสิทธิ์จากภาพยนตร์เรื่อง Fast and Furious และ Puss in Boots 2 เป็นต้น (2) Dream Express ตัวแทนในการดูแลลิขสิทธิ์ของคาแรคเตอร์จากแอนิเมชั่นชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Gundam, One Piece, Demon Slayer Kimetsu No Yaiba, Ultraman, Masked Rider และ Detective Conan เป็นต้น และ (3) The Walt Disney เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์จากภาพยนตร์ Avengers, Spider-Man และ Marvel เป็นต้น รวมถึงมีคาแรคเตอร์จากศิลปิน (Creator) ชาวไทย

ปัจจุบัน บริษัทฯ ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์มานานกว่า 6 ปี ทั้งสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่นำไปจัดจำหน่ายต่อหรือเป็นสินค้าส่งเสริมการขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง และสำหรับลูกค้าผู้บริโภคภายใต้เครื่องหมายการค้า IGNITE ที่พัฒนาและจำหน่ายภายใต้บริษัทเอง

PKN