จับตา ! IFA ประเมินดีล JAS คว้าสิทธิ์ถ่ายพรีเมียร์-เอฟเอคัพ หลังโบรกฯ มองผู้ให้บริการแบบนี้ “เจ๊งทุกราย”
จากประเด็นที่ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ประกาศคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และเอฟเอ คัพสำหรับประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ในทุกช่องทางถ่ายทอดสด (อินเตอร์เน็ต ทีวี, ดิจิทัล ทีวี, ทีวี ดาวเทียม เคเบิลทีวี ไอพีทีวี และ OTT) 3-6 ฤดูกาล (แล้วแต่วันยืนยันข้อตกลงระหว่าง JAS กับเจ้าของลิขสิทธ์) มีผลตั้งแต่ฤดูกาล 2025/26 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท
โดยบริษัทฯ จะใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ มีเงินสดและ รายการเทียบเท่าเงินสดเท่ากับจำนวน 4,678.47 ล้านบาท และการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินซึ่งอยู่บริษัทฯ อยู่ ระหว่าง การดำเนินการเจรจากับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เนื่องจากการชำระค่าตอบแทนการได้ใช้สิทธิสำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก แบ่งเป็นรายงวดและสำหรับเอฟเอคัพแบ่งเป็นรายปี ปรากฏตามข้อ 3.1 ของสารสนเทศฉบับนี้ จะทำให้บริษัทฯ สามารถพิจารณากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเป็นคราว ๆ ไป ตามความต้องการการใช้เงินเพื่อนำมาชำระค่าตอบแทนการได้ใช้สิทธิสำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีขาย (sales taxes) และภาษีหัก ณ ที่จ่าย) ตามงวดที่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งจะลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้เมื่อเทียบกับการชำระครั้งเดียวทั้งจำนวน
ขณะที่มีมติแต่งตั้ง บริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับธุรกรรม ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ ภายใต้ประกาศรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ ซึ่งมีมติกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 7 มกราคม 2568
สำหรับ ผลประโยชน์ทคาดว่าจะเกิดกับกลุ่มบริษัท สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตทีวีและธุรกิจการจัดหาคอนเทนต์ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการทำให้บริษัทฯ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตทีวีและธุรกิจการจัดหาคอนเทนต์ อย่างเต็มรูปแบบ
และสอดคล้องกับแผนธุรกิจของกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ที่จะผลักดันให้ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตทีวีและ ธุรกิจการจัดหาคอนเทนต์เป็นเรือธง (Flagship) ของกลุ่มบริษัทฯ
รวมทั้งการขยายธุรกิจร่วมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพในตลาด ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยขยายฐานลูกค้าและเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้าของกลุ่มบริษัทฯ ได้อย่างมี นัยสำคัญ
นอกจากนี้ ธุรกรรมถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้า คู่ค้าและเครือข่าย ผู้ติดตามของกลุ่มบริษัทฯ รวมทั้งสมาชิกของธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตทีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคที่สนใจกีฬาฟุตบอล ในประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา
อีกทั้งบริษัทกำลังอยู่ในกระบวนการแต่งตั้งพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เพื่อทำการตลาด และการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ ผ่านทางดิจิทัลทีวี (Digital TV) เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากธุรกรรมถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ ซึ่งพันธมิตรดังกล่าว อาจจะเป็นคู่ค้าปัจจุบันที่มีศักยภาพ ซึ่งหากมีความคืบหน้า จะเปิดเผยข้อมูลและดำเนินการให้เป็นไป ตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนสมาชิก สปอนเซอร์ และโฆษณา
สถิติผู้ให้บริการเจ๊งทุกราย
ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด ระบุว่า จากประเด็น JAS ทุ่มซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก-เอฟเอคัพ ดังกล่าว โครงสร้างดีล 6 ปี 19,000 ล้านบาท ถ้า 3 ปี 8,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษี ณ ที่จ่าย 15%) รอทางพรีเมียร์ลีกยืนยันอีกที
JAS จะได้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ถ่ายทอด 3 ช่องทาง คือ Digital TV, Internet TV และคลิปถ่ายทอด 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และกัมพูชา
โดยแพลตฟอร์มของ JAS คือ GIGA TV ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 600,000 ราย ในขณะที่ True Vision 1.2 ล้านราย คาดว่าจะเกิดความร่วมมือระหว่าง JAS-ADVANC
ทั้งนี้เมื่อคิดค่าใช้จ่ายต่อปีสำหรับลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก 2,700 ล้านบาท ถ้าคิดว่าสมาชิกของ True vision 1.2 ล้านรายจะย้ายมา GIGA TV จะทำให้ JAS มีต้นทุน 2,200 บาทต่อฤดูกาล ถ้าคิด 6 ปี ต้นทุน 2,700 บาทต่อฤดูกาล ถือว่าพอได้ เพราะปัจจุบันค่าสมาชิกราว 5,400 บาทต่อปี ส่วนฐานะทางการเงิน ปัจจุบัน JAS มีเงินสดในมือ 4,600 ล้านบาท ต้องพึ่งสถาบันการเงินเข้ามาช่วยในดีลครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม จากสถิติที่ผ่านมาผู้ให้บริการเจ๊งทุกราย ไม่ว่าจะเป็น CTH, True vision ซึ่ง JAS ก็ยังคงมีความเสี่ยงตรงนี้
ถ้าพิจารณา TRUE ซึ่ง True vision คิดเป็น 4% ของรายได้รวม นอกจากนี้ True vision ไม่มีกำไรการไม่ได้สิทธิ์พรีเมียร์ลีก น่าจะส่งผลดีมากกว่าเพราะเป็นการตัดเนื้อร้ายออกจากบริษัท ในขณะที่ธุรกิจมือถืออยู่ในช่วงเติบโต การเสียลิขสิทธิ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่