Talk of The Town

วิกฤติ M เจ้าของ “เอ็ม เค สุกี้” กำไรดิ่งหนัก สวนทาง “สุกี้ตี๋น้อย” กำไรสุดเด่น


14 พฤศจิกายน 2567

เกาะติดสถานการณ์ประกาศงบของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผลประกอบการของบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M เจ้าของร้านอาหาร "เอ็ม เค สุกี้" และ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของ “สุกี้ตี๋น้อย” ที่มี บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART  ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 30%

วิกฤติ M เจ้าของ “เอ็ม เค สุกี้” กำไรดิ่งหนั.jpg

โดยผลประกอบการ M ในช่วงไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ  341 ล้านบาท ลดลง 12.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้งวด 9 เดือนปี 67 มีกำไรสุทธิ 1,088 ล้านบาท ลดลง 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ในไตรมาส 3/2567 มีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 3,683 ล้านบาท ลดลง 10.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยอดขายสาขาเดิมก็ได้ปรับลดลง 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลงจากค่าครองชีพและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น 

ส่วนรายได้จากการขายและบริการสำหรับงวด 9 เดือนของปี 2567 นั้นเท่ากับ 11,735 ล้านบาท ลดลง 7% จากงวดเดียวกันของปี ก่อนหน้า แต่ยอดขายสาขาเดิมก็ได้ปรับลดลง 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับแบรนด์ร้านอาหารเอ็ม เค ยังถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลัก ซึ่งพบว่า มีสัดส่วนรายได้จากการขายและบริการกว่า 72% ตามด้วย ยาโยอิ 18%  แหลมเจริญ 7% และอื่นๆ อีกเพียง 3%

ความเห็นของนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) คาดปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1.44 พันล้านบาท ลดลง 15% จากปีก่อน และมองอุตสาหกรรมร้านอาหารโดยภาพรวมหดตัว จากกำลังซื้อที่ลดลง พร้อมกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น 

ทำให้คาดว่าจะมีการปิดสาขาสุทธิ 3 สาขาในไตรมาส 4/67 ผลจากการปิดสาขาYayoi ที่ผลประกอบการไม่ดี ทำให้สิ้นปี 2567 จะมีจำนวนสาขาสุทธิ 691 สาขา ขณะที่ไตรมาส 3/67 มีการปิดสาขาสุทธิ 8 สาขา ประกอบด้วย MK 5 สาขา Yayoi 4 สาขา ขณะที่มีเปิดสาขาร้านอาหารแบรนด์อื่นๆ 1 สาขา (Multi brands) 

ทำให้มีสาขา ณ สิ้นไตรมาส 3/67 ทั้งหมด 694 สาขา แบ่งเป็น MK Suki 441 สาขา (รวม MK Gold และ MK Live) Yayoi 195 สาขา แหลมเจริญซีฟู้ด 39 สาขา และร้านอาหารอื่น ๆ 19 สาขา

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนเปิด 15 สาขาในปี 2568 แบ่งเป็น MK Suki 5 สาขา Yayoi 3 สาขา แหลมเจริญซีฟู้ด 5 สาขา และร้านอาหารอื่น ๆ 2 สาขา แต่คาดว่าจะมีการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรรวมถึงสาขาที่ห้างปิดรีโนเวทรวมกัน 15 สาขา ทำให้จำนวนสาขายังทรงตัวที่ 691 สาขาในปี 2568

ดังนั้นคาดว่าการเติบโตหลังจากนี้จะเป็นการเสริมแบรนด์ใหม่ๆเข้ามาในพอร์ต ตัวอย่างเช่น Hikiniku To Come (ร้านแฮมเบิร์กที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น) ที่เปิดสาขาแรกที่ Central World ในเดือนต.ค. 2567 จึงแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 30.00 บาท

ขณะที่บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของ “สุกี้ตี๋น้อย” หากอ้างอิง JMART รายงานพบว่า บริษัท รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น“สุกี้ตี๋น้อย” สัดส่วน 30% จำนวน 267 ล้านบาท เติบโต 35.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ณ 30 กันยายน 2567 “สุกี้ตี๋น้อย” มีสาขารวมทั้งหมด 73 สาขา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วจำนวน 6 สาขา “สุกี้ตี๋น้อย” ยังคงเปิดสาขาในต่างจังหวัดมากต่อเนื่อง โดยการเปิดสาขาใหม่ที่ผ่านมาทำให้ “สุกี้ตี๋น้อย”  มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีกำไรสุทธิที่เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 

และเมื่อเข้าไปสำรวจกำไรย้อนหลังพบว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 มีกำไรสุทธิ 15 ล้านบาท ปี 2563 มีกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 140 ล้านบาท ส่วนปี 2564 เพิ่มเป็น 147 ล้านบาท ปี 2565 เพิ่มมาที่ 591 ล้านบาท และปี 2566 มีกำไรสุทธิสูงถึง 907 ล้านบาท

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART กล่าวว่า ธุรกิจดาวรุ่งดวงใหม่ “สุกี้ ตี๋น้อย” ยังคงเป็นบริษัทที่ส่งกำไรกลับมาให้ JMART ต่อเนื่อง โดย 9 เดือนปี 67 “สุกี้ ตี๋น้อย” มีกำไรสุทธิ 916 ล้านบาท เติบโต 35% จากงวดเดียวกันของปีจากการบริหารจัดการต้นทุน และการขยายสาขาได้ตามเป้า โดยปัจจุบันมี 76 สาขา และมีแผนเปิดอีก 3 สาขา ครบ 79 สาขาในสิ้นปีนี้ 

โดยมุ่งเน้นขยายไปในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น อาทิ เตรียมเปิดที่ขอนแก่น เชียงใหม่ และอยุธยา มองไตรมาส 4/67 ไฮซีซั่น คาดมาร์จิ้นดีขึ้น รวมทั้ง เริ่มขยายไปยังกลุ่มปิ้งย่างภายใต้แบรนด์ TEENOI BBQ

วิกฤติ-M-เจ้าของ-“เอ็ม-เค-สุกี้”-กำไรดิ่งหนั.jpg

M