MEDEZE ชี้ตัวเลขจัดเก็บ Stem Cell ทั่วโลกเติบโต ยืนยันดำเนินธุรกิจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
“เมดีซ กรุ๊ป” ชี้ตัวเลขการจัดเก็บ Stem Cell ทั่วโลกเติบโต มั่นใจระบบจัดเก็บได้มาตรฐานสากล ยืนยันดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนระดมทุน IPO
นายแพทย์วีรพล เขมะรังสรรค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เปิดเผยว่า การจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิด หรือ Stem Cell ยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับเด็กเกิดใหม่ ซึ่งจะได้เซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แข็งแรง และมีความพร้อมสำหรับการนำไปใช้ในอนาคต โดยความก้าวหน้านวัตกรรมทางการแพทย์ และมีงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับของการนำไปรักษา ซึ่งจากบทความของ Global Cord Blood and Tissue Banking Industry Report รายงานว่า มีงานวิจัยในมนุษย์ หรือ Clinical Trials สำหรับงานวิจัย Cord Blood จำนวน 3,000-5,000 ฉบับต่อปี และจำนวนมากกว่า 500 ฉบับต่อปีสำหรับงานวิจัย Cord Tissue ทั้งนี้แนวโน้มในการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดยังมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น 1%, 3%, 4% และ 6% ของประชากรเกิดใหม่ในแต่ละปีของประเทศจีน, สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น ตามลำดับ
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีสัดส่วนธนาคารสเต็มเซลล์ที่เป็นภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกอยู่ที่ 14% และ 86% ตามลำดับ โดยมีธนาคารสเต็มเซลล์ของภาครัฐอยู่ที่ 25 แห่งในสหรัฐอเมริกา และ 16 แห่งที่เป็นของเอกชน ในขณะที่ในทวีปยุโรปมีธนาคารสเต็มเซลล์ของภาครัฐอยู่ที่ 25 แห่ง ในขณะที่ MEDEZE ก็เป็นธนาคาร สเต็มเซลล์แห่งเดียวในประเทศไทย และด้วยการบริการที่ดีอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตที่มั่นคง สม่ำเสมอด้วยมาตรฐานระดับสากล ทำให้ในปีนี้ MEDEZE ได้รับรางวัล Frost&Sullivan และรางวัล "Industry Champions of the Year" จาก Asia Corporate Excellence & Sustainability หรือ ACES
ด้านนางสาวอารียา อนันต์วรรักษ์ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย บริษัท เอสซีแอล นิซิมูระ แอนด์ อาซาฮี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของบริษัท MEDEZE ได้เปิดเผยเพิ่มเติมสำหรับข้อมูลทางกฎหมาย และ การบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย และการบังคับใช้ของ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัดว่า MEDEZE ประกอบธุรกิจตรวจวิเคราะห์ คัดแยก เพาะเลี้ยง และรับฝากเซลล์ต้นกำเนิด รวมถึงตรวจศักยภาพเซลล์ภูมิคุ้มกัน ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการประกอบไปด้วย ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด และมาตรฐานธนาคารเซลล์ โดย MEDEZE ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด และมีมาตรการในการโฆษณาที่จะไม่ใช้เนื้อหา หรือข้อความที่เป็นการชักจูง หรือเชิญชวนโดยใช้ข้อความโอ้อวดเกินจริง หรือใช้ข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้คนหลงเชื่อในการเข้าใช้บริการแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการต่าง ๆ หากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัดได้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอนาคต
ในขณะที่ นางสาวสุภากาญจน์ กิจโกศล ประธานเจ้าหน้าที่สายบัญชีและการเงิน บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE และนายพิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายบัญชีและการเงิน MEDEZE Treasury PTE. LTD. เปิดเผยว่า หลังการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO MEDEZE ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบแทนความไว้วางใจต่อผู้ถือหุ้นทุกคน โดยผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 2567 มีรายได้รวม 630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% และมีกำไรสุทธิ 240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% รวมถึงมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 38% โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้า และการลดต้นทุนโดยใช้เครื่องเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคมอลอัตโนมัติ หรือ Quantum ที่เข้ามาสนับสนุนการทำหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์
ส่วนนางสาวดนิตา พิทักษ์เนติกุล ประธานเจ้าหน้าที่สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการได้รับรางวัล Industry Champions of the Year ในงาน ACES Awards 2024 แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ และนวัตกรรมที่โดดเด่นในด้านบริการธนาคารสเต็มเซลล์ และเนื้อเยื่อ ด้วยความมุ่งมั่นขององค์กรในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ และรักษามาตรฐาน รวมถึงคุณภาพในระดับสูง สะท้อนความพยายามในการพัฒนาชีวิตผ่านโซลูชันทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย และ มีส่วนร่วมสำคัญต่อสุขภาพ