เปิดผลกระทบระยะสั้น-หุ้นได้รับประโยชน์ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" นั่งประธานบอร์ดธปท.
Mr.Data
ปิดฉากเรื่อง Talk Of The Town เรื่องของความเหมาะสมของ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง"อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังกระทรวงการคลังเสนอรายชื่อเป็นแคนดิเดทประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
หลังจากในวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหามีมตีเห็นชอบเลือก "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" นั่งดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.
โดยมติการคัดเลือกในครั้งนี้ จะถูกเสนอให้กระกรวงการคลังพิจารณา และนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนทูลเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
แม้ก่อนหน้าจะมีกระแสต่อต้านถึงความเหมาะสมของ "กิตติรัตน์" เนื่องจากถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ และแสดงตนชัดเจนถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการเมือง
และที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาเคยให้สัมภาษณ์แสดงพฤติกรรม และมีเจตนาชัดแจ้งต่อสายตาสาธารณชน ถึงการ "ครอบงำ" และ "แทรกแซง" การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในวันที่ 11 พ.ย.มีความเคลื่อนไหวของตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์ที่น้อมนำธรรมองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน และได้เข้ายื่นหนังสือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอคัดค้านการคัดเลือก "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ประธานกรรมการ ธปท.
แม้จะมีกลุ่มต่อต้าน แต่ก็มีกลุ่มที่หนุน "กิตติรัตน์" ด้วยเช่นกัน
ในวันที่เดียวกัน กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมเพื่อการกู้ยืมที่เป็นธรรม ได้เดินทางมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ สนับสนุน "กิตติรัตน์" นั่งประธานบอร์ด ธปท.
โดยให้เหตุผลว่า เขาเป็นผู้มีความเหมาะสมทั้งคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความรู้ ความสามารถ
และคาดหวังว่าจะเข้ามาปรับปรุงและยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ ธปท. ให้ตอบโจทย์ประชาชน และเกิดการกู้ยืมที่เป็นธรรมมากขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หนทางต่อไปหลัง "กิตติรัตน์" เข้าดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ยังคงต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องของความเป็นอิสระของธปท. และต้องสลัดทิ้งเรื่องของการแทรกแซงเชิงนโยบาย ของฝ่ายการเมือง
แต่ถ้าถามถึงมุมมองผลกระทบตลาดหุ้นไทย ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า แม้ประธานบอร์ดธปท.จะไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินโดยตรงแต่เราประเมินว่าในระยะสั้น ตลาดอาจเชื่อไปก่อนประธานบอร์ดคนใหม่นี้ อาจนำมาสู่แนวนโยบายของ ธปท.ที่หันมาไฟกัสกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผลักดันเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายมากขึ้นได้ หลังจากช่วงที่ผ่านมา ธปท.ค่อนข้างจะให้น้ำหนักกับประเด็นเสถียรภาพทางการเงินเป็นพิเศษ
"หากนักลงทุนเชื่อในประเด็นนี้มากขึ้น มีโอกาสทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทยในตลาดทยอยปรับตัวลงไปก่อนได้ จนนำมาสู่การอ่อนค่าของเงินบาทโดยเปรียบเทียบ และการไหลออกของ Fund flow ในระยะสั้น"
หากดูผลกระทบในตลาดเงินในรอบวันที่ผ่านมาจะพบว่าอัตรา Swap rate 3 เดือนของไทยปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ 218% บ่งชี้ความน่าจะเป็นของการ
ลดดอกเบี้ย 0.25% ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 28% ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่ามากว่าสกุลเงินเอเชียอื่นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่กดดัน Fund flow ในระยะสั้นของตลาดทุนไทยต่อไป
แต่ในระยะกลางนั้น ภาพของการลดดอกเบี้ย (หากเกิดขึ้น) น่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจไทย และกำไรของบจ.ได้ รวมถึงตัวคูณ Multiple ในตลาดที่จะถูกปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ (PE expansion)
มองกลุ่มหุ้นที่มีโอกาสถูกเก็งกำไรขึ้นมาในระยะสั้นตามปัจจัยข่าวดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์ เป็นสำคัญ เนื่องจากตลาดอาจมองถึงประเด็นข้อจำกัดการเข้าถึงของสินเชื่อที่มีโอกาสผ่อนคลายมากขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง
สำหรับ Top pick ของเราในกลุ่มนี้ประจำไตรมาส 4 ยังคงได้แก่ SAWAD, AEONTS และ KTC ต่อไป