“ทรีนีตี้” โชว์กำไรงวด 9 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 102.22 โกยรายได้ 439.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 119.22 จากงวดเดียวกันปีก่อน
“ทรีนีตี้” โชว์กำไรงวด 9 เดือนปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 102.22 คิดเป็นกำไรสุทธิรวม 7.48 ล้านบาทเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 336.53 ล้านบาท รายได้รวมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์งวด 9 เดือนปี 67 พุ่งจาก 200.37 ล้านบาทเป็น 439.25 ล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มร้อยละ 119.22 จากงวดเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมที่ลดลง แต่ปริมาณการซื้อขายกลุ่มลูกค้ารายย่อยของบริษัทเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ขาดทุนสุทธิ 9.01 ล้านบาท ฟื้นตัวดีขึ้นร้อยละ 87.84 เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 74.16 ล้านบาท
ดร. วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่าปีนี้ผลดำเนินงานของบริษัท และบริษัทย่อยออกมาดีตามคาดจากแผนธุรกิจของบริษัทที่เดินหน้าเต็มรูปแบบ ส่งผลให้งวด 9 เดือนของปี 2567 มีรายได้รวม 439.25 ล้านบาทเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 119.22 เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 200.37 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 7.48 ล้านบาทเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 102.22 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 336.53 ล้านบาท
บริษัทมีรายได้จากธุรกิจซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเพิ่มบุคลากรที่ให้บริการลูกค้าด้านแนะนําการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยในงวด 9 เดือนปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 11.24 ล้านบาท เป็น 23.74 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 111.21 จากงวดเดียวกันของปีก่อน หนุนให้มาร์เก็ตแชร์ของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.23 เมื่อปี 2566 เป็น 0.93 ในงวด 9 เดือนปี 2567
สำหรับรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์งวด 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 85.41 ล้านบาท ลดลงในอัตราร้อยละ 16.36 จาก 102.12 ล้านบาทในงวด 9 เดือนปี 2566 เป็นผลจากการลดลงของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงเหลือ 46,252 ล้านบาท ลดลงในอัตราร้อยละ 17.71 จาก 56,208 ล้านบาทต่อวันในงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการงวด 9 เดือนปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 55.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 32.89 จาก 42.02 ล้านบาทในงวด 9 เดือนปี 2566 เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจัดจําหน่ายหลักทรัพย์ ขณะที่งวดไตรมาส 3 รายได้ค่าธรรมเนียม และบริการเพิ่มขึ้นจาก 11.97 ในไตรมาส 3 ปี 2566 เป็น 14.36 ล้านบาทในงวดเดียวกันปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20.07 เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“หากปีนี้ผลประกอบการของบริษัทมีกำไร เราคาดว่าจะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลได้เหมือนกับที่ผ่านมาที่บริษัทจะจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในสัดส่วนประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ หลังผลดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่องจนทำให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ล่าสุดกลับมาเป็นบวกแล้ว” ดร.วิศิษฐ์กล่าว
สำหรับภาพรวมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงได้รับผลกระทบจากปริมาณการซื้อขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสําคัญต่อเศรษฐกิจโลกทําให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นทั่วโลก และตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 3 บริษัทยังสามารถสร้างรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นโดดเด่นกว่าปีที่ผ่านมา จากกลยุทธ์ที่มีการเพิ่มบุคลากรที่ช่วยสร้างรายได้ โดยเน้นไปที่การให้บริการลูกค้าที่สนใจลงทุนในธุรกิจซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ทำให้บริษัทมีปริมาณการซื้อขายของกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในไตรมาส 3 นี้ธุรกิจซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว และบริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถดันมาร์เก็ตแชร์ธุรกิจนี้ ให้เติบโตติด Top 5 ให้ได้ในอนาคตอันใกล้
ในส่วนของธุรกิจวาณิชธนกิจ บริษัทมีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้นปี 1 บริษัท และมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนฯในช่วงปลายปีอีก 1 บริษัท คือ บมจ.โรงพยาบาลนครธน รวมถึงการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างหนี้ การเป็นที่ปรึกษาในการออกตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าสิ้นปีรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจจะกลับไปเติบโตเท่าปี 2565 ที่มีรายได้ 102 ล้านบาท