เปิดสินเชื่อรายย่อย 4 แบงก์ใหญ่ พบ TTB แชมป์สัดส่วนสูงถึง 62% โบรกฯคาดมาตรการแก้หนี้กระทบไม่แรง
เมื่อกระทรวงการคลังได้อนุมัติหลักการเรื่องการแก้หนี้ครัวเรือน หนี้ SMEs โดยกระทรวงการคลังจะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้ไม่เกิน 1 ปี เป็นกลุ่มที่น่าจะขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้อยู่ในช่วงฟื้นตัว
ถ้าหากปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะกำหนดให้เหมาะสม เช่น กลุ่มบ้าน กลุ่มรถ และกลุ่มค่าใช้จ่ายเรื่องหนี้ค่าบริโภค รวม ๆ เป็นหนี้รวมประมาณ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท โดยการลดภาระ คือ จะให้โอกาสยังไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี เมื่อมีการพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี ทำให้สามารถนำเงินไปบริโภคได้มากขึ้น หรือใช้ลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า การให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด” เลือก KTB , KBANK Top pick เรามองเป็นลบเล็กน้อยต่อกลุ่มธนาคาร เพราะมาตรการนี้จะให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้รายย่อยมูลค่า 1.2-1.3 ล้านล้านบาท (ลดลงจากข่าวรอบก่อนที่ 1.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็น 8.6% ของสินเชื่อทั้งระบบ (อ้างอิงจากข่าวรอบก่อน จะให้ความช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้บ้าน ราคาต้องไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน, สินเชื่อรถยนต์ต้องไม่เกินวงเงิน 7 แสนบาท, สินเชื่อเอสเอ็มอีต้องมีวงเงินสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน)
โดยมองว่าการพักการจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี จะส่งกระทบต่อ Loan yield ที่จะลดลงจาก EIR ที่ลดลง แต่จะส่งผลให้แนวโน้มการตั้งสำรองฯมีโอกาสลดลงได้ เพราะเราเชื่อว่ามาตรการนี้จะคล้ายช่วงโควิดที่จะไม่จัดชั้นลูกหนี้กลุ่มนี้ลงเป็น NPL อย่างไรก็ดี บางธนาคารที่ conservative น่าจะมีการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นได้
เรายังคงต้องรอรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ธปท. อีกที ซึ่งเราคาดว่ามาตรการนี้น่าจะเป็นทางเลือกให้กลุ่มธนาคารเข้าช่วยเหลือ ไม่น่าจะเป็นการบังคับให้กลุ่มธนาคารต้องทำตาม และรอว่าจะมีนโยบายการลด FIDF fee เหลือ 0.23% จาก 0.46% เข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งถ้ามีจะช่วยลดผลกระทบจาก Loan yield ที่จะลดลงได้
ทั้งนี้ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยเรียงจากมาก-น้อยคือ TTB (62%), KTB (46%), SCB (40%), KBANK (28%) โดยกลุ่มธนาคารเรายังให้น้ำหนักเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก KTB (ซื้อ/เป้า 24.50 บาท), KBANK (ซื้อ/เป้า 176.00 บาท) เป็น top pick