กระดานข่าว

ราช กรุ๊ป - เอไอเอฟ กรุ๊ป - โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนา โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน - กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว


22 พฤศจิกายน 2567

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (กลาง) ร่วมด้วย  ดร. ลิดทิกอน พูมมะสัก ประธานบริษัท บริษัท เอไอเอฟ กรุ๊ป จำกัด (ซ้าย) และนายสุภกิณห์ สมศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรนิตรอน จำกัด (ขวา) ลงนามบันทึกความร่วมมือศึกษาและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนียจากพลังงานหมุนเวียนใน สปป. ลาว เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่งและการผลิตไฟฟ้าในอนาคต พร้อมสนับสนุนความมุ่งมั่นของนานาชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

S__4972621_11zon.jpg

การลงนามครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของพันธมิตรธุรกิจ 3 บริษัท ทั้ง ราช กรุ๊ป ที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำที่มีความรู้และประสบการณ์อย่างยาวนานในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยมีฐานการผลิตในประเทศไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์  ส่วนเอไอเอฟ กรุ๊ป เป็นกลุ่มธุรกิจชั้นนำของ สปป.ลาว ซึ่งมีฐานธุรกิจที่มั่นคงและลงทุนในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งภาคการเงิน พลังงานและสาธารณูปโภค โลจิสติกส์ ฯลฯ และโรนิตรอน มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี การจำหน่ายและการจัดการโลจิสติกส์ด้านเชื้อเพลิงสะอาด ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างธุรกิจกรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนีย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในการสร้างมูลค่าและคุณค่าในระยะยาวต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมในอนาคต 

สำหรับ สปป.ลาว นับว่ามีศักยภาพและเหมาะสมสำหรับที่ตั้งดำเนินโครงการ เนื่องจากมีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นใช้ในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงกรีนไฮโดรเจน โดยมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีความหลากหลาย อาทิ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ มีโครงสร้างสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าย่อย มีปริมาณแหล่งน้ำดิบที่เพียงพอใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต รวมทั้งมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งจะรองรับกระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิงกรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย  ทั้งนี้ ตลาดเป้าหมายรองรับความต้องการใช้กรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นต้น