5 ปัจจัย หนุนทองคำทะยานต่อ ลุ้นปี 68 ทะลุ 3,000 ดอลลาร์ ทองในประเทศจ่อทะลุ 5 หมื่น
Mr.Data
ร้อนแรงเป็นอันดับ 2 รองจากบิทคอยน์ที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงถึง 164.14% จากราคาต่ำสุดที่ 36,751.5 ดอลลาร์/บิทคอยน์ ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แถว 98,179.9 ดอลลาร์คงต้องยกให้ "ทองคำ" ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ที่ทุบสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง
โดยราคาทองคำในตลาดโลกล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 2,674.90 ดอลลาร์/ออนซ์ ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงถึง 32.85% จากราคาต่ำสุดที่ 1,979 ดอลลาร์/ออนซ์ และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,801.8 ดอลลาร์/ออนซ์
ขณะที่ราคาทองคำในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย.เพิ่มขึ้นกว่า 10,050 บาท โดยทองคำแท่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 44,550 บาท/บาททองคำ จากต้นปีอยู่ที่ 33,400 บาท
ล่าสุด วันที่ 22 พ.ย. เปิดตลาดราคาทองเพิ่มขึ้น 300 บาท ทองแท่งขายออกอยู่ที่ 44,500 บาท/บาททองคำ การทะยานขึ้นของราคาทองคำ นักลงทุนหลายคนอดตั้งคำถามว่า ทองคำจะไปต่อ...หรือพอแค่นี้ หลังช่วงที่ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์มีการพักฐาน ประมาณ 250 ดอลลาร์/ออนซ์ นับจากรู้ผลการเลือกตังประธานาธิบดีสหรัฐ
แต่ราคาทองคำกลับมาทะยานขึ้นอย่างร้อนแรง หลังมีรายงานข่าวยูเครนยิงขีปนาวุธสตอร์ม ชาโดว์ ที่จัดหาให้โดยสหราชอาณาจักร เข้าใส่ดินแดนของรัสเซียเป็นครั้งแรก จากก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (19 พ.ย.) ยูเครนยิงขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ที่จัดหาให้โดยสหรัฐฯเข้าใส่รัสเซีย กระตุ้นให้มอสโกแถลงปรับลดเพดานสำหรับการใช้ปฏิบัติการนิวเคลียร์ลง
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อันเนื่องจากสถานการณ์ที่ลุกลามระหว่างรัสเซียกับยูเครน กระตุ้นให้นักลงทุนถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ
"ในปี 2568 YLG คงเป้าหมายทองคำที่ 2,850-3,000 ดอลลาร์/ออนซ์" นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ให้ความเห็น
ขณะที่เป้าหมายของทองคำแท่ง 96.5% ในประเทศอยู่ที่ 46,800-49,250 บาท/าททองคำ (ณ อัตราแลกเปลี่ยน ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์)
นอกจากนี้ ยังมองว่าอาจจะไปได้ถึง 50,000 บาทต่อบาททองคำ หากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เคลื่อนไหวใกล้โซน 35.00-35.20 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม หากเฟดยังเดินหน้านโยบายดอกเบี้ยขาลงอีก 2 ปี ทองคำก็ยังปรับตัวขึ้นได้ต่อในระยะยาว
นอกจากนี้ การประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอน (LBMA) เมื่อกลางเดือน ต.ค. ผลสำรวจความคิดเห็นของคนในอุตสาหกรรมทองคำ คาดว่าราคาทองคำจะไต่ระดับขึ้นจนทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2568
สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ให้เห็นว่าแนวโน้มระยะยาวยังคงเป็น "ขาขึ้น" มาจาก
1 การเข้าซื้อของธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังคงเดินหน้าสะสมทองคำต่อเนื่อง โดยผลสำรวจของ World Gold Council ในปี 2567 บ่งชี้ว่า “Central Bank ทั่วโลกราว 69% จะสะสมทองคำเพิ่มขึ้นในฐานะทุนสำรองฯ ต่อไปอีกอย่างน้อยในช่วง 5 ปี ต่อจากนี้”
โดยเทรนด์ดังกล่าว เริ่มเห็นได้ชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่ Central Bank ได้เข้าซื้อทองคำมากถึง 1,082 ตัน และ 1,037 ตัน ตามลำดับ
และในปี 2567 แม้เผชิญกับราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ Central Bank ก็ยังเข้าซื้อทองคำรวมทั้ง 3 ไตรมาสแรก (เดือนม.ค. - เดือนก.ย.) ในระดับที่ยังสูงถึง 669.5 ตัน
2 เหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่มีนโยบายสนับสนุนการทำสงครามระหว่างประเทศ แต่การจะยุติความขัดแย้งในหลายๆพื้นที่ก็ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงให้เกิดสงครามการค้าขึ้นได้ในอนาคตโดยเฉพาะกับจีน
3.ความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ ในยุคสมัยของทรัมป์ที่มีแนวโน้มกระตุ้นเงินเฟ้อให้กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง จึงเกิดความกังวลถึงการที่เฟดอาจจะไม่สามารถสานต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้มากเท่าแผนการเดิม
Daan Struyven นักวิเคราะห์ Goldman Sach Croup Inc. แนะนำ "ซื้อ" ทองคำ โดยย้ำเป้าหมายที่ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายในเดือนธันวาคม 2568 โดยปัจจัยขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างของการคาดการณ์คือ ความต้องการที่สูงขึ้นของธนาคารกลาง
ในขณะที่แรงกระตุ้นตามวัฏจักรจะมาจากกระแสเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเมื่อธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ยังมองว่าความตึงเครียดด้านการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนอาจกระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรทองอีกครั้ง อีกทั้ง ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการคลังของสหรัฐอาจช่วยหนุนราคาด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะธนาคารที่ถือครองเงินสำรองของกระทรวงการคลังสหรัฐจำนวนมาก อาจเลือก "ซื้อทอง" เพิ่มขึ้น