จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : CMAN ปรับกลยุทธ์รับมือ “บาท”ผันผวน หวังสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน


25 พฤศจิกายน 2567

บมจ.เคมีแมน (CMAN)  ปรับกลยุทธ์รับมือกับความผันผวนของเงินบาทที่มีมากขึ้น  โดยปรับโครงสร้างเงินกู้ระหว่างกันกับบริษัทลูกที่ออสเตรเลียและบริษัทย่อยที่เวียดนาม มั่นใจผลสำเร็จสร้างเสถียรภาพการเติบโต

รายงานพิเศษ CMAN ปรับกลยุทธ์รับมือ “บาท”ผันผ.jpg

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น โดยจะอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทโดยรวมปรับอ่อนค่า 7% มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เป็นรองเพียงเงินเยนของญี่ปุ่น

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศ เช่น ฤดูการจ่ายเงินปันผล และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่กดดันการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ เป็นต้น

แต่สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง หากพิจารณาจากสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ทิศทางค่าเงินบาทมักจะปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 โดยเฉลี่ยถึง 4.9%  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยที่มีความต้องการเงินบาทจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น รวมถึงความต้องการค่าเงินบาทของกลุ่มบริษัทในการปิดงบประมาณสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในเชิงการเมืองและการค้า ดังนั้น ttb analytics ได้ประเมินแนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นในครึ่งหลังของปี ณ สิ้นปี 2567 ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากมุมมองปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย และการเปลี่ยนแปลงทางการเงินและเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบ

จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยถึงสิ้นปีนี้อาจไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการค้าโลก ขณะที่ปัจจัยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังกดดันราคาพลังงานและขนส่งสินค้าให้อยู่ในระดับสูงต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น วัฏจักรนโยบายการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านนโยบายทางการเมืองของสหรัฐฯ จะสร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนมากขึ้นให้กับตลาดการเงินโลก

ทำให้ ttb analytics มองประเด็นเหล่านี้จะสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินบาทผันผวนและอ่อนค่าได้ ทำให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงของค่าเงินบาท เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในช่วงเวลาต่อไป

ความผันผวนของเงินบาทที่เกิดขึ้นในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าอย่างมาก  ดังนั้นการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเงินบาท จึงมีความจำเป็นต้องทำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท

ซึ่งผู้บริหาร บมจ.เคมีแมน (CMAN)  “หม่อมหลวงจันทรจุฑา จันทรทัต” ประธานกรรมการ  ยอมรับว่าบริษัทได้ปรับนโยบายเพื่อรับมือความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้น โดยบริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเงินกู้ระหว่างกันกับบริษัทลูกที่ออสเตรเลียให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD)  ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศตามแผนงานที่ตั้งไว้

ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 4/67 บริษัทมั่นใจว่าจะเติบโตตามเป้าหมาย จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ปูนไลม์ในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และออสเตรเลียยังเติบโตต่อเนื่อง และราคาขายที่สอดคล้องกับคุณภาพสินค้ามากขึ้น

"การดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทยังแข็งแกร่งมาก ทั้งปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนต้นทุนขายลดลง อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในไตรมาส 3 ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทแข็งค่ารุนแรงเมื่อเทียบกับ AUD และ VND ทำให้เกิดผลขาดทุนในทางบัญชี  อันเนื่องมาจากบริษัทมีการปล่อยกู้ให้กับบริษัทย่อยที่ออสเตรเลียเป็นเงิน AUD และบริษัทย่อยที่เวียดนามเป็นเงินบาท  อีกทั้งโรงงานในเวียดนามได้รับผลกระทบจากพายุยางิ แต่สามารถจัดการฟื้นฟูความเสียหายและกลับมาผลิตได้ภายใน 1 เดือน โดยไม่กระทบกับยอดขายโดยรวม" หม่อมหลวงจันทรจุฑา กล่าว