จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : EP ฐานเงินแกร่งหลังขายโรงไฟฟ้าในเวียดนาม เน้นบริหารจัดการหนี้-ลุยธุรกิจพลังงาน


27 พฤศจิกายน 2567

บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ขายโรงไฟฟ้าในเวียดนาม 2 แห่ง ให้พันธมิตรกำเงินกว่า 4.6 พันล้านบาท เร่งบริหารจัดการหนี้และเดินหน้าธุรกิจพลังงานสะอาด 

รายงานพิเศษ EP copy.jpg

บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมติอนุมัติให้ EP Group (HK) Co., Ltd. (EP-HK) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมที่ EP ถือหุ้น 100% โดย บมจ. อีเทอร์นิตี้ พาวเวอร์ (ETP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ EP ถือหุ้น 81.40% จำหน่ายหุ้นสามัญของ EPVN W2 (HK) Co., Ltd. (EPVN) ที่ EP-HK ถืออยู่ 100% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ให้แก่ BCPG Investment Holdings Pte. Ltd. (BCPGI) มูลค่า 3,394,932 ล้านดองเวียดนาม หรือประมาณ 4,613.71 ล้านบาท

EPVN ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 99 เมกะวัตต์ (MW) ในอำเภอ Chu Prong จังหวัด Gia Lai สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้แก่

1) โครงการ Che Bien Tay Nguyen Wind Power Plant Project (CBTN) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 49.5 เมกะวัตต์(MW) โดยมี Chu Prong Gia Lai Wind Power Joint Stock Company (CBTN) เป็นเจ้าของโครงการ โดยที่ EPVN ถือหุ้น 99.7845% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของ CBTN

(2) โครงการ Phat Trien Mien Nui Wind Power Plant Project (PTMN) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 49.5 เมกะวัตต์ (MW) โดยมี Chu Prong Gia Lai Wind Electricity Joint Stock Company (PTMN) เป็นเจ้าของโครงการ โดยที่ EPVN ถือหุ้น 99.871% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด

BCPGI เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในสาธารณรัฐสิงคโปร์ มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (Ultimate Major Shareholder) ได้แก่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ถือหุ้น 100% และ BCPG มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (Ultimate Major Shareholder) ได้แก่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ถือหุ้น 57.81%

ซึ่งประธานกรรมการ EP “ยุทธ ชินสุภัคกุล” ระบุ  การลงนามซื้อขายในครั้งนี้จะทำให้ EP มีเม็ดเงินเข้ามากว่า 4,600 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อการจัดการภาระหนี้สินของบริษัทได้ทั้งหมด และบริษัทยังมีโครงการไฟฟ้าพลังงานลมคงเหลืออีก 2 โครงการรวม 60 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 1 โครงการ และกำลังจะ COD ภายในปีนี้อีก 1 โครงการ

หลังจากนี้บริษัทจะเร่งดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับก่อน (Conditions Precedent) ให้เสร็จสิ้นก่อนการชำระเงินงวดแรก โดยเฉพาะเร่งรัดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้ง 2 โครงการให้ได้ภายในต้นปี 68 นี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทได้เม็ดเงินงวดแรกเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1,780 ล้านบาท

ซึ่ง “ยุทธ ชินสุภัคกุล” เคยระบุว่า มีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสนใจเข้ามาเจรจาซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม) ในประเทศเวียดนาม ของบริษัทฯ ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 8,420 ล้านบาท  โดยปัจจุบันขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 30 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 3 โครงการ กำลังการผลิต 130 เมกะวัตต์ เตรียมทยอย COD ตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป

"ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่หลายราย สนใจเข้าลงทุนในวินด์ฟาร์มเวียดนามของ EP เพราะเป็นโครงการที่สำเร็จแล้ว อยู่ในทำเลที่ดี ซึ่งรอเพียง COD เท่านั้น ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของทางฝั่งรัฐบาลเวียดนามที่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเราอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอที่ดีที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น และต้องยอมรับว่าโครงการไฟฟ้าวินด์ฟาร์มในเวียดนามมีความล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมออกไปมาก ทำให้บริษัทฯจำเป็นต้องมีการหาพันธมิตรเพื่อแบ่งเบาภาระด้านการลงทุน และการบริหารจัดการเงินทุนให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดรับที่ได้จากการขายไฟ" นายยุทธกล่าว

EP