Wealth Sharing

หุ้นท่องเที่ยวรับแรงกระแทก หลังท.ท.ช.ปัดฝุ่นค่าเหยียบแผ่นดิน โบรกฯ ชี้มีโอกาสใช้ได้จริงในปี 2568


28 พฤศจิกายน 2567

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด  รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศไทยหรือค่าเหยียบแผ่นดิน โดยไม่มีหน่วยงานใดขัดข้อง ก่อนนำเสนอ ครม. เพื่อทราบอีกครั้งว่าจะเริ่มจัดเก็บเมื่อใด

หุ้นท่องเที่ยวรับแรงกระแทก_WS (เว็บ) copy_0.jpg

โดยรายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า อัตราค่าจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แยกเป็น ช่องทางทางอากาศจัดเก็บในอัตรา 300 บาทต่อคน ส่วนช่องทางทางบกและทางน้ำจัดเก็บในอัตรา 150 บาทต่อคน

ดังนั้น แผนการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แม้มีการเห็นชอบมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อน แต่ถูกเลื่อนออกมา จึงยังต้องตามว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของแนวคิดการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำมาใช้พัฒนาการท่องเที่ยวและมีประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างเที่ยวในประเทศ

แม้ช่วงที่มีกระแสข่าวเก็บค่าเหยียบแผ่นดินครั้งก่อน (24 ต.ค. 67) ราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว มีการย่อตัว (อาจมีส่วนจากภาวะตลาด เพราะ SET ปิดต่ำกว่าวันก่อนหน้าราว 0.7% เช่นกัน) 

อย่างไรก็ดีฝ่ายวิจัยมองว่าค่าเหยียบแผ่นดินตามอัตราข้างต้น ถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเฉลี่ยต่อคนที่ 4.7 หมื่นบาท ประกอบกับการนำเงินไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและประกันภัย จะดีในระยะยาวจึงประเมินผลต่อการตัดสินในเดินทางนักท่องเที่ยวต่างชาติจำกัด

ภาพรวมคงประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยปี 2567–2568 ที่ 35.9 ล้านคน และ 38.6 ล้านคน ตามลำดับ สำหรับภาพระยะสั้น คาดกำไรปกติรายไตรมาสของหุ้นอิงท่องเที่ยวไทย (และโรงแรมในฝั่ง Asia) อย่าง AOT, CENTEL และ ERW เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นขั้นบันไดตั้งแต่ไตรมาส 4/67 –1/68 ตาม Seasonality 

ส่วนภาพรายปี มีมุมมองว่ากลุ่มที่มีแผนการเปิดโรงแรมใหม่ที่ชัดเจน เช่น CENTEL จะได้เปรียบในเชิงของอัตราการเติบโต ภายใต้ฐานนักท่องเที่ยวทยอยสูงขึ้น เลือก AOT จากภาพกำไรระยะสั้นข้างต้น และ ROE สูงกว่าหุ้นท่องเที่ยวไทยอื่นและ CENTEL เพราะแผนเปิดโรงแรมใหม่ เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มฯ ส่วน MINT น่าสนใจในมุมที่ PER 23 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่าเรามองเป็นลบเล็กน้อยจากข่าวดังกล่าว โดยประเด็นเรื่องการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินมีมาตั้งแต่ปี 2565 แต่ก็ยังไม่เคยทำได้เลย เพราะสมาคมโรงแรมไม่มีใครยอมให้ใช้เพราะกลัวนักท่องเที่ยวไม่มา 

แต่ครั้งนี้เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะเริ่มใช้ได้จริงในปี 2568 ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2566 ค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อทริปอยู่ที่ 43,742.76 บาท/คน (ปี 2562 อยู่ที่ 47,895.78 บาท/คน) ซึ่งการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาท คิดเป็น 0.6% 

โดยคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเล็กน้อยแต่ไม่น่ามีนัยสำคัญมากนัก(ญี่ปุ่นเก็บ 1,000 เยน หรือราว 250 บาท, บาหลีเก็บ 10 ดอลลาร์หรือราว 350 บาท, มาเลเซียเก็บ 10 ริงกิต หรือราว 80 บาท, อิตาลีเก็บ 3-7 ยูโร หรือราว110-260 บาท, สเปนเก็บ 2.5-4 ยูโร หรือราว 90-150 บาท, เยอรมนีเก็บ 5 ยูโร หรือราว 190 บาท) 

แต่อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นของกลุ่มท่องเที่ยวอาจได้รับ sentiment เชิงลบต่อประเด็นดังกล่าวได้ ทั้งนี้ กลุ่มท่องเที่ยวเราให้น้ำหนักเป็น “เท่ากับตลาด” เลือก CENTEL (แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 44 บาท) และ MINT (แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 34.00 บาท) เป็น Top pick