CV ระส่ำ เงินขาดมือ? เรียกประชุมขอเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ แถมทวงค่ามัดจำซื้อหุ้น WTX ไม่ได้ 180 ลบ.
CV ยังป่วนต่อเนื่อง ล่าสุดขออนุมัติการขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน หุ้นกู้ CV251A แถมกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบล่าออก อีกทั้งยังทวงเงินมัดจำการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ WTX ไม่ได้กว่า 180 ล้านบาท หลังแผนเพิ่มทุนล่ม จนทำให้ไม่สามารถเข้าไปซื้อได้
นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เห็นสมควรให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทที่ออกครั้งที่ 1/2565 ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 21 มกราคม 2568 (หุ้นกู้ CV251A)
ทั้งนี้เพื่อขออนุมัติการขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน และมอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีอำนาจพิจารณากำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบที่คณะกรรมการได้อนุมัติไว้ ตลอดจนกำหนด วัน เวลาและ สถานที่หรือรูปแบบการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2568 จำนวน 1 รุ่นดังกล่าว ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งบริษัทฯจะได้แจ้งและเผยแพร่ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในโอกาสต่อไป
ขณะเดียวกันรับทราบการลาออกของ นางทิพยสุดา ถาวรามร จากตำแหน่ง กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ เนื่องจากมีภารกิจงานที่รับผิดชอบมากขึ้น โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้สำหรับตำแหน่งที่ว่างลง บริษัทฯ จะดำเนินการตามกระบวนการสรรหาของบริษัทฯ ต่อไป
นอกจากนี้ ตามที่บริษัทฯ ได้ตกลงเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ WTX เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 โดยบริษัทฯ ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญของ WTX จาก Functional Investment Pte Ltd. (“Functional”/ ผู้ขายหุ้น) ซึ่งจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์และเป็นผู้ถือหุ้นของ WTX ในสัดส่วน 20% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด
และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินมัดจำตามสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวจำนวน 4.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 180 ล้านบาท) เพื่อเป็นหลักประกัน ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2567 มีมติอนุมัติยกเลิกการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ WTX ดังกล่าว เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับเงินจากการออกเสนอขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering: RO) ไม่เพียงพอที่จะเข้าทำรายการซื้อหุ้น WTX
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ติดตามเรียกคืนเงินมัดจำค่าหุ้นดังกล่าวจากผู้ขายหุ้นมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับชำระแต่อย่างใด ในการนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จึงมีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายผ่านศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสิงคโปร์ (Singapore International Arbitration Centre หรือ "SIAC")
ตามข้อบังคับว่าด้วยอนุญาโตตุลาการของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสิงคโปร์ (Arbitration Rules of the Singapore International Arbitration Centre หรือ “SIAC Rules") ในการเรียกร้องตามสัญญา และจัดเตรียมทีมที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งกฎหมายไทยและสิงคโปร์ เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายเป็นไปอย่างรอบคอบถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ