กระดานข่าว

สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 10 เดือน ของปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม)


04 ธันวาคม 2567

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยในช่วง 10 เดือน (มกราคม -ตุลาคม) 2567 อยู่ที่ 154.90 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 GDP ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3  การขยายตัวของการบริการขนส่งและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 การใช้ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.02 ขณะที่การใช้น้ำมันเตาลดลงร้อยละ 9.3 และ NGV ลดลงร้อยละ 16.9 

S__5545990.jpg

รายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.02 จากการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.43 ล้านลิตร/วัน เป็นผลจากราคาขายปลีกของแก๊สโซฮอล์ 91 ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.88 บาท/ลิตร (มกราคม-ตุลาคม 2566 เฉลี่ย 0.27 บาท/ลิตร) ประชาชนบางส่วนจึงหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แทน ขณะที่น้ำมันเบนซินชนิดอื่น ๆ   มีปริมาณการใช้ลดลง ประกอบด้วย แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 17.88 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.43  ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.42 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07  ล้านลิตร/วัน ในภาพรวมแม้ว่าการท่องเที่ยวในประเทศจะขยายตัวแต่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน2 รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารร้อยละ 13.03 

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 66.35 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ประกอบด้วย

ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.20 ล้านลิตร/วัน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวของบริการขนส่ง  ทางบกอย่างต่อเนื่อง สำหรับดีเซลหมุนเร็วบี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.151 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่ดีเซลพื้นฐาน ลดลงมาอยู่ที่ 1.93 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากในปีก่อนมีการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ส่งผลให้ในภาพรวมจึงมีปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 68.28 ล้านลิตร/วัน  

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 15.51 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 โดยมีปัจจัย  มาจากการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 28.8 ล้านคน  คิดเป็นร้อยละ 29.3 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศสะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยขยายตัวร้อยละ 9.04 รวมไปถึงการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วยเช่นกัน

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.58 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ประกอบด้วยการใช้ในภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.50 ล้านกก./วัน ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.76 ล้านกก./วัน ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.32 ล้านกก./วัน จากการขยายตัวของกลุ่มรถแท็กซี่เป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.00 ล้านกก./วัน 

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.80 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 16.9 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม 2567 – 31 ธันวาคม 2568) 

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,042,470 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 95,510 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 983,440 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 91,344 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 59,030 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 21.9 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,165 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 181,294 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,707 ล้านบาท/เดือน