เปิดสถิติ ”ซานต้าแรลลี่” ย้อนหลัง 4 ปี ดันผลตอบแทนหุ้นไทยเดือน ธ.ค.เป็นบวก
Mr.Data
สัปดาห์นี้ Mr.Data ชวนมาจับญาณสามตา...อุ๊ย ไม่ใช่แล้วล่ะ ชวนมาค้นหาสถิติความเป็นไปได้ของการเกิดปรากฏการณ์ “ซานต้า แรลลี่” ในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งจากการเก็บรวบรวมสถิติย้อนหลัง 4 ปี พบว่า ในเดือนธ.ค. SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวก เทียบเดือนก่อนหน้า
ไล่เรียงตั้งแต่ปี 2563-2566
2566 SET Index ปิดที่ 1,415.85 จุด +6%
2565 SET Index ปิดที่ 1,668.66 จุด +2%
2564 SET Index ปิดที่ 1,657.62 จุด +5.67
2563 SET Index ปิดที่ 1,449.35 จุด +2.91
โดยปัจจัยสนับสนุนหลักๆมาจากแรงขับเคลื่อนของ กองทุนวายุภักษ์ และกองทุน ThaiESG ที่ถือเป็นกองทุนสำคัญที่ช่วยผลักดัน SET Index ทะยานต่อ อีกทั้งยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หนุนการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยว
ในช่วงเดือนธันวาคม ยังถือเป็นช่วง High Season ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย และประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่นักลงทุนเฝ้าจับตามองคือ การธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนนี้ จะมีการปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ หรือส่งสัญญาณอย่างไร ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญกับทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีความหวังกับการทำ Window Dressing ของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ
บล.พาย เปิดเผยว่า สถิติหุ้นไทยที่เดือน ธ.ค. มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกจึงยังคาดหวังต่อการฟื้นตัวตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้ ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนยังแนะทยอยสะสมเช่นเดิม มองระดับ Valuation หุ้นไทยน่าสนใจ และเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวพร้อมกับความหวังระยะสั้นต่อทิศทางดอกเบี้ยที่ดูผ่อนคลายมากขึ้น
เน้นที่กลุ่มอิงการบริโภค (BJC CRC CPALL DOHOME) ท่องเที่ยว (AOT CENTEL MINT) ศูนย์การค้า (CPN) ธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK KTB SCB) การเงิน (MTC SAWAD)
นอกจากนี้ ยังมองว่าในสัปดาห์หน้าจะเป็นอีกปัจจัยชี้ต่อทิศทางดอกเบี้ยที่ชัดเจนมากขึ้น
ส่วน บล.ดาโอ (ประเทศไทย) มองว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือน ธ.ค. ยังมีแนวโน้มผันผวน ประเมินกรอบเคลื่อนไหวที่ 1,410 - 1,500 จุด เนื่องจากยังมีความตึงเครียดการทำสงครามระหว่างเลบานอน กับ อิสราเอล แม้จะมีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการโจมตีเป็นระยะ เช่นเดียวกับ รัสเซีย กับ ยูเครน ที่ยังมีการโจมตีกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังกดดันตลาดหุ้นอยู่
อีกทั้ง การประชุม FOMC วันที่ 18 ธ.ค.นี้ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย หรือปรับลดเพียง 0.25% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อ้างอิง GDP ไตรมาส 3/67 ที่ขยายตัวได้ 2.8% ตามคาดการณ์ ประกอบกับ ตัวเลขการว่างงานที่ลดลง อีกทั้ง นโยบายต่าง ๆ ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" อาจทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยกำลังปรับตัวขึ้น อีกทั้ง ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะทยอยออกมา อาทิ มาตรการแก้หนี้ และมาตรการแจกเงินต่าง ๆ เป็นต้น ประกอบกับ ความตึงเครียดการเมืองในประเทศคลี่คลายลงไปได้บ้างแล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อน SET Index ได้เช่นกัน