จิปาถะ

คนไทยจะได้-เสียอะไร ? หากรัฐบาล ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 15%


06 ธันวาคม 2567
แนวคิดขึ้น VAT 15% ลดภาษีเงินได้ ปฏิรูปการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ของรัฐบาล คนไทยจะได้-เสียอะไร ?

64de2010-b23e-11ef-a0f2-fd81ae5962f4.jpg.webp


นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงแนวคิดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.

การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ ทั้งการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และการปรับภาษีเงินได้ให้อยู่ที่ 15% ที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง เปิดเผยในเวที Sustainability Forum 2025 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์

นายพิชัย ซึ่งเป็นประธานเปิดงาน ขึ้นบรรยายในหัวข้อ Financial Policies for Sustainable Economy หรือนโยบายทางการเงินสำหรับเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเขาได้กล่าวถึงนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ โดนปรากฏแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีของประเทศทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยการปรับการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ดังนี้

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งประเทศไทยกำลังจะปรับให้เป็นไปตามการเก็บภาษีนิติบุคคลระดับโลกขั้นต่ำ (Global Minimum Tax - GMT) ซึ่งนับร้อยประเทศทั่วโลกบรรลุข้อตกลงร่วมกันเรื่องการเก็บภาษีระหว่างประเทศ โดยไทยจะศึกษาการจัดเก็บจาก 20% เป็น 15%

นายพิชัย อธิบายว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว และหลายบริษัทเป็นมัลติเนชันแนลข้ามชาติ โดยเฉพาะทางซีกโลกตะวันตกที่ไปลงทุนทั่วโลก ตั้งบริษัทตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ภาษีอาจไม่ได้เสียไปอยู่กับเจ้าของประเทศ แต่ไปอยู่กับกลุ่มประเทศ tax havens (กลุ่มประเทศซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องมือดึงดูดบริษัทข้ามชาติ) แต่การเก็บภาษี GMT ทุกคนที่ทำการค้าขายระหว่างประเทศอย่างน้อยต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของประเทศ ซึ่งมีการกำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ที่ 15% วันนี้อัตรา 15% ได้แพร่หลายไปแล้ว ประเทศไทยก็ต้องดำเนินมาตรการนี้ด้วย

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีการศึกษาเพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทย นอกเหนือจากการให้วีซ่า อาจมีการพิจารณาจาก 35% เหลือ 15%

“หลายประเทศเขาลดภาษีบุคคลธรรมดาลง เขาก็มองเห็นว่ามีจำนวนไม่น้อยเก็บได้ไม่เยอะ ส่วนใหญ่บ้านเรา 35% อาจจะไม่ได้จ่ายกันมากนัก หลายประเทศเริ่มลงมา 17% ก็มี 18% ก็มี สุดท้ายบางคนก็เล็งมาที่ 15%”

3. ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีการบริโภค (VAT) โดยทั่วโลกมีการเก็บในอัตรา 15-25% ในขณะที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 7% จากอัตราที่กำหนดไว้ 10% ในจีนเก็บอยู่ 19% สิงคโปร์จัดเก็บที่ 9% และประเทศในยุโรปมีการจัดเก็บที่ 20%

นายพิชัยกล่าวว่า “ภาษีบริโภคเป็นภาษีที่คนมองทั่วไปว่าเซนซิทีฟ แต่ผมอยากจะบอกว่าภาษีบริโภค ถ้าเก็บในอัตราที่สูงขึ้นและเหมาะสม คือเครื่องมือช่วยให้คนรายได้ต่ำรอด ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนจนคนรวยจะลดลง” รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า คนฟังอาจจะรู้สึกแปลก ๆ เหตุใดเก็บภาษีมากขึ้นจึงทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยลดลง นายพิชัยอ้างว่า ยิ่งมีการเก็บภาษีเข้ารัฐมากขึ้น จะยิ่งทำให้เงินกองกลางที่จะนำมาจัดทำบริการสาธารณะ คืนกลับให้กับกลุ่มคนรายได้น้อยได้มากขึ้น

“ถ้าวันนี้เราเก็บในอัตราต่ำ ก็แปลว่าทุก ๆ คนจ่ายต่ำ เงินที่ไปกองอยู่ตรงกลางก็เป็นเงินยอดต่ำ การจะส่งกลับเข้ามาก็มีข้อจำกัด แต่ถ้าเก็บสูงขึ้น ทุกคนจ่ายสูงขึ้นหมด ตามยอดการใช้ เงินกองกลางก็ใหญ่ขึ้น เมื่อเงินกองกลางใหญ่ขึ้นก็สามารถจะหยิบเงินกองกลางมาส่งผ่านให้เฉพาะคนรายได้น้อย การจัดงบประมาณก็สามารถเพิ่มได้” นายพิชัยกล่าว

“ดังนั้น การเพิ่มภาษีนี้ คือการเก็บทุกคน แต่ส่งกลับไปให้กลุ่มคนรายได้น้อยผ่านมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา ให้โอกาสกับคนที่มีรายได้น้อย นี่คือวิธีคิด”

แนวทางในการปรับการจัดเก็บภาษีที่ขุนคลังของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พูดถึง มีความเป็นไปได้แค่ไหน มีเป้าหมายอะไร ช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ และคนไทยจะต้องเสียภาษีมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร บีบีซีไทยพูดคุยกับ รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์แนวทางการปฏิรูปภาษีดังกล่าว

ทำไมรัฐบาลจึงเก็บภาษีเพิ่ม

ในทัศนะของ รศ.ดร.อธิภัทร แนวคิดการจับเก็บภาษีแบบใหม่ที่ รมว.คลัง ประกาศ ไม่ได้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างเขาประหลาดใจมากนัก

รศ.ดร.อธิภัทร อธิบายว่า หากมองในภาคการคลังของประเทศไทย ปัญหาใหญ่ที่กำลังเผชิญคือ รายรับของภาคการคลังลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

“ตั้งแต่ก่อนโควิด สัดส่วนภาษีต่อรายได้เราอยู่ที่ 16% ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) และถ้าย้อนไปช่วง 2015-2016 เทรนด์มันลดลงมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันอยู่ที่แค่ 14% กว่า ๆ ของจีดีพี ดังนั้น การลดลงของรายรับภาษีเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง”

นอกจากนี้ เมื่อดูภาระทางการคลัง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่นักลงทุนหรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ความสำคัญ ภาระดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับรายได้สุทธิ ปัจจุบันของไทยอยู่ที่ประมาณ 8% แต่ในอีกประมาณ 2-3 ปี จะขยับขึ้นเร็วมาก ในปี 2026 จะอยู่ที่ 12% และกว่าจะถึงปี 2028 จะขึ้นเป็น 24% สัดส่วนเช่นนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากเบนช์มาร์กของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ใช้จัดอันดับการลงทุนจะอยู่ที่ 10% เท่านั้น

“ตอนนี้ภาคการคลังมันไม่ได้เป็นจุดแข็งของประเทศ แต่เป็นจุดอ่อนสำคัญอันหนึ่ง” รศ.ดร.อธิภัทร กล่าว “ดังนั้น การที่รัฐบาลหรือ รมว.คลัง จะปรับแผนการจัดเก็บภาษีเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ผมคิดว่าไม่ได้เกินความคาดหมายมากนัก”

เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ตาม Global Minimum Tax (GMT) ที่อัตรา 15% ใช่การลดภาษีนิติบุคคล หรือไม่

ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก หรือ Global Minimum Tax (GMT) คือภาษีที่จัดเก็บกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มีจุดประสงค์การจัดเก็บเพื่อหยุดการแข่งขันทางด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน และป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่มาตั้งบริษัทอยู่ในประเทศนั้น ๆ ภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่กว่า 130 ประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในแถลงการณ์รับแผนการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือที่ออกแบบโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD)

รศ.ดร.อธิภัทร อธิบายว่าภาษี Global Minimum Tax เป็นภาษีที่เอาไว้ป้องกันบริษัทข้ามชาติเลี่ยงการเสียภาษีแก่ประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ปัจจุบันมีการวางแผนภาษีเยอะมาก ทำให้มีการเสียภาษีน้อยมาก ดังนั้น ข้อตกลงของการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล GMT จึงกำหนดอัตรา 15% ไว้เป็นขั้นต่ำ แต่ไม่ได้กำหนดว่ารัฐบาลแต่ละประเทศควรจะลดลงไปถึง 15% และในทัศนะของนักวิชาการผู้นี้ มองว่าการที่ไทยเดินหน้าเข้าร่วมการเก็บภาษี GMT อาจต้องสื่อสารให้ชัดเจน

“ผมคิดว่าการโยง GMT 15% และเป็นเหตุให้เราต้องลดภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วไปให้เป็น 15% ผมคิดว่าอาจจะเข้าใจคำพูดตรงนี้คลาดเคลื่อน” รศ.ดร.อธิภัทร กล่าวให้ความชัดเจนว่า GMT ไม่ใช่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วไป

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จากจุฬาฯ อธิบายว่า ที่ผ่านมาภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ประเทศไทยไม่สามารถเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติในลักษณะนี้ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบริษัทเทคเฟิร์มหรือดิจิทัลอีโคโนมีที่เข้ามาเยอะมาก ซึ่งมีรายได้จากการโฆษณาทางช่องทางออนไลน์ที่รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้เลย

“เวลาธุรกิจไทยจ่ายค่าโฆษณาไปยังกูเกิล เราไม่ได้จ่ายให้กูเกิลเมืองไทย เราจ่ายตรงไปกูเกิลสิงคโปร์เลย เขาใช้วิธีนี้ในการหลบเลี่ยงภาษี ไม่จ่ายให้กับรัฐบาลไทย ในขณะเดียวกันกูเกิลสิงคโปร์ ก็มีวิธีการในการหลบเลี่ยงเหมือนกัน โดยการโยกย้ายไปอยู่ที่ tax havens อีกที่หนึ่งเลย ทำให้เขาเสียภาษีน้อยมาก”

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปรับจาก 35% เหลือ 15% หมายถึงจ่ายภาษีน้อยลงหรือไม่
ความตอนหนึ่งที่นายพิชัย รมว.คลัง กล่าวถึงการพิจารณาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 35% เหลือ 15% อาจไม่ได้หมายความว่าบุคคลธรรมดาจ่ายภาษีในอัตราที่ลดลงเสมอไป ตามทัศนะของ รศ.ดร.อธิภัทร

“ตอบไม่ได้ง่ายแบบนั้น ผมคิดว่าต้องดูว่า รมว.คลัง หมายถึงอะไร 15% แล้ว ข้างในฐานภาษีเป็นอย่างไรบ้าง ยังมีการลดหย่อน มีอะไรเหมือนเดิมหรือไม่ มันเป็นขั้นบันไดหรือเป็นแฟลตเรต (flat rate) ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียกว้าง ๆ และเรายังไม่รู้รายละเอียดมากพอที่จะบอกว่า จะทำให้ผู้เสียภาษีจ่ายมากขึ้นหรือว่าน้อยลง เป็นการด่วนสรุปไป”

ก่อนหน้านี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ได้ตั้งข้อสังเกตโดยโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า ภายใต้นโยบายใหม่ที่ รมว.คลังระบุอัตราภาษีมาเช่นนี้ หากพิจารณาจากอัตราภาษีจริง (effective tax rate) ซึ่งคำนวณจากภาษีเงินได้หารด้วยรายได้ก่อนหักลดหย่อน จะพบว่า “คนที่เงินเดือนต่ำกว่า 300,000 บาททุกคนต้องจ่ายภาษีเพิ่มถ้าปรับลดอัตราลงเป็น 15% ส่วนคนที่เงินเดือนเกินได้ลดภาษี” นี่คือ การลดความเหลื่อมล้ำใช่หรือไม่

รศ.ดร.อธิภัทร ได้ชี้ให้เห็นว่า หากพิจารณาอัตราภาษีจริง (effective tax rate) ซึ่งเคยมีการคำนวณไว้ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งจะพบว่า กลุ่มระดับรายได้ล่างสุดจะเสียอยู่ที่ 1.5% ขณะที่กลุ่มรายได้ระดับบนสุด 20% จะเสียภาษีอยู่ที่ 11% เท่านั้น ด้วยอัตรานี้สะท้อนถึงฐานภาษีที่แคบมากของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีอยู่มากมาย

“ภาษีเงินได้มันไม่ถึง 15% อยู่แล้ว การลดลงมาตัวนี้ ผมคิดว่าถ้าทำจริง ๆ ต้องทำควบคู่กับการขยายฐานภาษี คือการเอาลดหย่อนต่าง ๆ มาสังคายนาว่า ตัวไหนที่ยังสมเหตุสมผลอยู่ และตัวที่ให้มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน" นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างการลดหย่อนด้วยประกันชีวิตที่สามารถหักได้ถึง 100,000 บาท โดยไม่ได้พิจารณารายได้ หรือการมอบสิทธิทางภาษีผ่านโครงการอย่างเช่นช็อปดีมีคืน โครงการลักษณะนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เท่าใด

“ทำไปแล้วธุรกิจเข้าสู่ระบบภาษีจริงหรือเปล่า แล้วเป็นรายได้สูญเสียเท่าไหร่ของรัฐ ผมคิดว่าสังคมไทยควรลดต้นทุนพวกนี้ ที่บอกว่าไม่ไหวแล้วต้องขึ้นแวต (VAT) และทุกคนต้องจ่ายพร้อมกันถ้วนหน้า ผมคิดว่าการพิจารณาปรับ [สิทธิประโยชน์ทางภาษีรูปแบบต่าง ๆ] มันทำให้รัฐบาลหาจุดร่วม หาแรงสนับสนุนได้มากกว่า (การขึ้นแวต)”

ขึ้นภาษีการบริโภค (VAT) กระทบคนกลุ่มไหน

รศ.ดร.อธิภัทร เสนอว่า การปรับโครงสร้างทางภาษี การพิจารณาเรื่องฐานภาษี มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการไปลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมา

“ในเทอมของภาษีเงินได้นิติบุคคล ธุรกิจสามารถหักค่าใช้จ่ายหรือบางทีก็ยกเว้นรายได้ในกิจกรรมที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม จึงทำให้ฐานภาษีมันก็แคบเหมือนกัน ดังนั้น ผมคิดว่ามันทำได้ทั้งสองอย่าง ทั้งการลดอัตราภาษี และถ้าอยากได้รายได้เพิ่มก็ขยายฐานภาษีให้มันครอบคลุมมากขึ้น”

ส่วนการปรับขึ้นภาษีการบริโภคหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax - VAT) อาจารย์เศรษฐศาสตร์จากจุฬาฯ ชี้ว่ารัฐบาลควรตอบประชาชนให้ได้ว่าเหตุใดต้องขึ้นแวต และเมื่อขึ้นไปแล้วมีความสมเหตุสมผลอย่างไร เมื่อเก็บเงินไปแล้วเอาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะการขึ้นแวตจะกระทบกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูง

“แวตเป็นภาษีถดถอย คือมันเดือดร้อนผู้มีรายได้น้อยเป็นสัดส่วนที่มากกว่าผู้มีรายได้สูง” รศ.ดร.อธิภัทร ระบุ

เขายังตั้งคำถามไปถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ ในรูปแบบรายได้จากทุน (capital income) เช่นการที่รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีจากเงินกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ยกเว้นมา 30 กว่าปีแล้ว ว่ารัฐบาลมีแผนจะดำเนินการกับภาษีส่วนนี้อย่างไร

“การที่เราไม่เก็บภาษีส่วนนั้นเลย หรือยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับหลาย ๆ ภาคธุรกิจ ในขณะเดียวกันรัฐก็บอกว่าต้องขึ้นแวต ผมว่าก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าทำไมถึงเลือกตัดสินใจแบบนี้ หรือวาดภาพให้เห็นว่ารัฐบาลมีแผนจัดเก็บภาษีจากแต่ละภาคส่วนของประเทศให้เท่าเทียมกันได้อย่างไร”

“ด้วยแวตโดยตัวของมันเองเป็นภาษีถดถอย ถึงแม้จะเก็บแล้วเอาเงินมาเกลี่ยให้คนรายได้น้อย มันก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะมีหลายภาคส่วนของประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่” รศ.ดร.อธิภัทร ระบุ

จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลขึ้นภาษีแวต

อัตราภาษีการบริโภคหรือแวตทั่วโลกที่ รมว.คลัง กล่าวถึง อยู่ที่ระหว่าง 15-25% ปัจจุบันประเทศไทยเก็บแวตที่ 7% แต่ตามเพดานของกฎหมาย ไทยสามารถจัดเก็บได้ 10% ทว่า มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีแวตเหลือ 7% และใช้วิธีต่ออายุแบบรายปีมาตลอด

“ถ้ามองในด้านรายได้ [ของรัฐ] มุ่งมาที่ภาษีแวตไม่แปลก เพราะเวลารัฐขึ้นภาษีแวต 1% รายได้ก็จะเก็บได้ 70,000-80,000 ล้านบาท” รศ.ดร.อธิภัทร กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ชี้ว่า แต่การขึ้นแวตทีเดียวสองเท่าจะทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้น หลายประเทศจึงขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นในลักษณะจาก 7% เป็น 15% อย่างเช่นญี่ปุ่นที่ค่อย ๆ ปรับจาก 8% เป็น 10%

“แวตเป็นยาขมของรัฐบาล มันมีสถิติ บอกว่ารัฐบาล 90% ที่ขึ้นแวต เทอมหน้าแพ้เลือกตั้งตลอด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก”

นอกจากนี้การขึ้นแวตต้องมีความแน่นอน ซึ่งคนทั่วไปหรือธุรกิจต้องสามารถคาดการณ์ได้ว่าแวตจะเป็นเท่าไหร่ในช่วงเวลาใด

“ถ้ารัฐบาลจะขึ้นจาก 7% เป็น 10% จริง ผมคิดว่าสามารถทำได้ หากมีการบาลานซ์ระบบภาษีให้เป็นธรรม และวางไทม์ไลน์ให้ชัดเจน เช่น ปีนี้ 7% ปีหน้า 8% ปีถัดไป 9% แบบนี้ธุรกิจมีเวลาปรับตัวทัน”

ส่วนผลกระทบต่อผู้บริโภค นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภาษี บอกว่าแตกต่างกันไปตามการขยับขึ้นของภาษี

“ถ้าขึ้นแวตเยอะอย่างจาก 7% ไป 10% ทันที มันก็อาจกระทบการบริโภคของคนแน่นอน เพราะแน่นอนว่าคนจนลง คือรายได้หายไป 3% แต่แวตที่เก็บจากจุดเริ่มต้นในอัตราที่ไม่สูงมากนักเช่น 7% เป็น 8% ผลต่อการบริโภคเบาบางมาก เพราะไม่ได้ทำให้คนกลับมาทบทวนการตัดสินใจการบริโภคมากขนาดนั้น”

“แต่ถ้าถามว่ากระทบความเป็นธรรมไหม กระทบแน่นอน เพราะฉะนั้น รัฐก็ต้องหาวิธีบรรเทาผู้มีรายได้น้อยด้วย” รศ.ดร.อธิภัทร กล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.bbc.com/thai/articles/c1el8y002nno